เรื่องเล่านายใหม่ (ตอนที่1) : 2495 “ทอฟฟี่” เด็กอีสาน และลิงกุมภวาปี

เรื่องเล่านายใหม่ (ตอนที่1) : 2495 “ทอฟฟี่” เด็กอีสาน และลิงกุมภวาปี

เรื่องโดย อนุชาติ อินทรพาณิช

ปุจฉา : คนเรามีความจำตั้งแต่เมื่อไหร่?

วิสัชนา: สำหรับผม ตอนเป็นเอ๊าะ ๆ ขวบเศษ ผมก็มีความจำแล้ว เอาเป็นว่าผมกำลังเปิดไฟล์ส่วนตัวเมื่ออายุได้ขวบเดียว เมื่อปี ๒๔๙๕ นับจากปีนี้ (๒๕๕๘) ย้อนหลังไปก็คง ๖๓ ปีแล้ว ที่ไฟล์นี้ลบออกจากสมองผมไม่ได้ ช่วงชีวิตผมตั้งแต่เกิดและอยู่ที่ตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ผมโตมาได้ขวบเศษ ยังเดินไม่แข็งแรง ผมจำได้ว่า บ้านของครอบครัวเรา หลังใหญ่มาก มีชั้นข้างล่างและข้างบน ผมจำได้ว่ามีชั้นบน เพราะแอบคลานขึ้นบันไดขึ้นไป แล้วหงายท้องลงมา หัวโนไปหลายวัน นั่นความจำแรก จำต่อมาเป็นความกลัวตอนนั้นเริ่มยืนหัดเดิน บ้านนี้คุณพ่อออกแบบบ้านให้ห้องครัว แยกอยู่ต่างหากจากตัวบ้าน ผมจำได้ว่า ตัวบ้านยกพื้นสูงต่างระดับเล็กน้อย ระหว่างตัวบ้านและครัว มีชานเชื่อมถึงกันตลอด ทีนี้ตรงพื้นบ้านกับชาน จะมีช่องว่างแคบ ๆ ผมจะไปหาคุณแม่ที่ครัวก็ต้องผ่านช่องว่างนี้ พอผมคลานลงมาถึงตรงพื้นต่างระดับจะลงไปที่ชาน ก็ต้องหันหลังเอาขาข้างหนึ่งลงก่อน ค่อยเอาอีกข้างตามลงไป แล้วค่อยยืน ตอนที่หันหลังเอาขาลงนี่แหละผมจำมาได้แม่น เพราะมีอะไรก็ไม่รู้ มันแหนบเอา “ไอ้จ้อน” ของผม ผมเจ็บและตกใจมาก ร้องไห้จ้าเลยแหละ คุณแม่วิ่งมาดู พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเห็นท่านหัวเราะ ชี้ให้ผมดูห่าน ตัวโต มันอาศัยอยู่ใต้ถุน ชอบโผล่มาตรงช่อง เพราะบางครั้งคุณแม่ให้อาหารมันตรงบริเวณนั้น พอเห็น “ไอ้จ้อน”ของผม มันคงคิดว่าเป็นลาภปาก จัดการซะเลย ผมไม่ขำเลย มันเจ็บนี่ครับ แล้วผลต่อเนื่องมาจนโต เรียนอยู่มัธยมแล้ว ถูกห่านโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ยืดคอไล่ผม ผมยังร้องแบบเสียขวัญ ปีนขึ้นไปบนกองฟืน อาแป๊ะเจ้าของโรงงานต้องมาไล่ให้ จากนั้นผมไม่กล้ากล้ำกรายแถวนั้นอีกเลย แหะ ๆ เขาว่ามันเป็นจิตใต้สำนึก เคยโดนแหนบมาเป็นสิบปีก็ยังเข็ดขยาดอยู่เลยครับ

ต่อมาจำได้ว่า ผมเดินไม่ทันพวกพี่ ๆ เขาเลยเอาผมขี่หลัง พี่คนหนึ่งบอกว่าจะไปหา “กัฟฟี่” กินกัน ตรงไหนล่ะที่จะไปหา พี่ ๆ พาน้องไปที่ทางเกวียน เดินผ่านหน้าดงธรรมชาติ ผมก็กลัวขึ้นมาอีก เพราะที่ดงธรรมชาติมีลิงฝูงใหญ่ ตัวหัวหน้าเราเรียกชื่อมันว่า “บักโกก” ก้นมันสีแดงแจ๋ ส่วนตัวเมียเราจะเรียก “อีสี”กันทุกตัวเลย ลิงน้อยเราเรียก “บักหอย” หรือ “อีหอย” ตามเพศมัน มันจะมองเราเวลาเรียกชื่อมัน เหมือนมันรู้จักชื่อตัวเอง เราต้องค่อย ๆ เดินไปไม่พูดคุยกัน กลัวลิงได้ยิน ผ่านดงไม้ไปด้วยดี พี่พาเดินตามทางลาดลงไปหาลำน้ำปาว พบทางเกวียนไปทางโรงน้ำตาลชื่อ “โรงน้ำตาลบุญเกื้อ” ทางเกวียนเป็นฝุ่นละเอียดเพราะวัวควายลากล้อเกวียนของชาวบ้านย่ำดินทุกวัน ล้อเกวียนที่มา จะบรรทุกน้ำอ้อยที่หีบแล้วที่บ้าน ส่งเข้าโรงงาน ผลิตเป็นน้ำตาลทรายแดง ผมจำไม่ได้ว่าเขาใช้อะไรบรรจุน้ำอ้อย และก็ไม่ได้ถามใคร เพราะคนที่จะถามไปสวรรค์หมดแล้ว พอไปถึงทางเกวียน พี่ให้ผมลง แล้วพี่เอามือกวาดฝุ่นละเอียดกลางทางเกวียน กวาดไปกวาดมาบอกว่าได้แล้ว ผมยืดคอมองดู เห็นเป็นก้อนกรวดเล็กๆสีน้ำตาลดำ มีดินฝุ่นเกาะ พี่เอาปากเป่าฝุ่นออกดังปูดๆ เอาเม็ดนั้นเข้าปาก สักพักพี่ยิ้มออก “มันแซบอีหลี” ไม่นานผมก็ได้ลิ้มรส “กัฟฟี่” มันหวานหอมจริงๆ พี่ๆคุ้ยกันต่อ ได้มาเป็นกำ ก็บอกพอแล้วรีบกลับบ้านเดี๋ยวคุณแม่รู้ว่าแอบหนีมาเที่ยว ขากลับเห็น “บักโกก”มันยืนสี่ขาขวางทางอยู่ พี่คนโต ถามมันว่า “กินกัฟฟี่บอบักโกก” แล้วพี่ก็เอา “กัฟฟี่” ใส่มือมัน มันรับไปใส่ปาก ผมเห็นมันแยกเขี้ยวมันแล้วตกใจ พี่บอกว่าลิงมันยิ้ม ผมแปลกใจที่พี่ไม่กลัวมัน เรื่อง “บักโกก” นี่ ขึ้นชื่อว่า “แสนรู้” ใครให้ของกินมันจะไม่ลืมและไม่ทำร้ายคน ๆ นั้น พี่ ๆ ผมให้อาหารมันบ่อย จนจำกันได้ คุณแม่ผมเล่าให้ฟังว่า ท่านไปหาบน้ำมาจากบ่อน้ำกิน ต้องเดินผ่านดงธรรมชาติมา บางวัน “บักโกก”จะมา “ลัดทาง” ขอน้ำกิน คุณแม่ต้องปลงหาบให้มันกิน มันกินตัวเดียวไม่พอ ร้องเรียกลูกเมียมากินด้วย ตกลงว่าต้องให้มันอิ่มก่อน คุณแม่ค่อยกลับไปตักน้ำที่บ่อมาใหม่ แต่มันก็ไม่มากวนอีก แต่ถ้าใครไล่มันไป ไม่ให้มันกิน มันจะขู่ “โกก ๆ ๆ ๆ ๆ” แล้วแย่งถังน้ำให้น้ำหกหมด นี่เป็นที่มาของชื่อ “บักโกก” พอพวกเรามาถึงบ้านคุณแม่คอยอยู่แล้ว ถามว่าไปไหนกันมา โดนสอบหนัก พี่เลยคายออกมาว่าพาน้องไปหา “กัฟฟี่” ที่ทางเกวียน คุณแม่บอกว่าเอามาดูซิ พี่ก็ยื่นให้ คุณแม่ดูแล้วตกใจ บอกว่า เอาให้น้องกินเข้าไปได้อย่างไร ตั้งแต่บัดนั้นมาเราก็ไม่ได้ไปแถวนั้นอีก จนผมโตพอรู้เรื่องแล้ว ถามคุณแม่ว่า “กัฟฟี่” มันคืออะไร ทำไมคุณแม่ถึงห้ามกิน คำตอบคือ น้ำเชื่อม ที่ชาวบ้านขนไปส่งโรงงาน มันกระฉอกออกจากภาชนะ เพราะทางเป็นหลุมเป็นบ่อ พอมันหยดลงไปในฝุ่นละเอียด จะถูกฝุ่นซับไว้ กลายเป็นก้อนหลายรูปทรง และหน้าแล้งถึงได้หีบอ้อย ฝุ่นทางเกวียนจะร้อน ทำให้น้ำอ้อยแห้งได้สนิท ส่วนคำว่า “กัฟฟี่” ก็คือ “ท๊อฟฟี่”ในภาษาลิ้นของคนอีสานนั่นเอง พอรู้แล้วอดคิดไม่ได้ว่า เรารอดมาได้ไง (วะ).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *