ทริปจักรยาน ณ ทะเลบัวแดง: Day 2 ปั่นจักรยานเที่ยวรอบทะเลบัวแดง

ทริปจักรยาน ณ ทะเลบัวแดง: Day 2 ปั่นจักรยานเที่ยวรอบทะเลบัวแดง

สำหรับวันที่สองนี้ เราวางแผนออกเดินทางแต่เช้าประมาณตีห้าครึ่ง เพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ริมทะเลบัวแดงบริเวณท่าเรือบ้านเชียงแหว และจะขี่จักรยานเลาะโดยรอบทะเลบัวแดงโดยใช้ถนนรอบหนองหานที่เพิ่งจะเสร็จไปไม่นาน โดยถนนรอบหนองหานนี้มีระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร แต่วันนี้เราจะปั่นไกลกว่านั้นคือตั้งใจว่าจะไปชมโบราณสถานและวัดที่น่าสนใจ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลบัวแดงมากนัก

เส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยว Day 2
ภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ท่าเรือเชียงแหว

หนองหานหรือทะเลบัวแดงนี้ เป็นต้นกำเนิดลำน้ำปาวที่ไหลลงเขื่อนลำปาวและไหลลงแม่น้ำชี ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 18,025 ไร่ เดิมมีพื้นที่ 22,500 ไร่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงหลังทำโครงการโขง ชี มูล ความลึกเฉลี่ย 2.1 เมตร ในฤดูฝนลึกประมาณ 4 เมตร ส่วนที่ลึกสุดอยู่ที่ แอ่งน้ำปุ้น บริเวณดอนหลวง หนองหานมีพื้นที่ครอบคลุมในเขต 3 อำเภอ คือ กุมภวาปี กู่แก้ว และประจักษ์ศิลปาคม (วารสารลุ่มน้ำโขง ใน อ้างอิง)

สัญลักษณ์กระรอกด่อน ตำนานแห่งหนองหาน กุมภวาปี ที่ท่าเรือบ้านเชียงแหว

รุ่งอรุณที่ท่าเรือบ้านเชียงแหว เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ภาพสวยๆ เพราะที่นี่มีหอที่เราจะปีนขึ้นไปเก็บภาพบรรยากาศในมุมสูงได้ และก็มี “กระรอกด่อน” หรือ กระรอกเผือก สัญลักษณ์ที่มาจากตำนานเรื่อง “ผาแดง-นางไอ่” ตำนานพื้นถิ่นที่เป็นต้นกำเนิดของหนองหานแห่งนี้

แสงจากพระอาทิตย์เริ่มจ้า เราเริ่มออกปั่นรอบบึงตามเข็มนาฬิกา ทำให้โดนแดดเผาหน้าไม่มากนัก รอบๆ ตัวเรามีแต่สายหมอกในยามเช้าที่ลอยต่ำๆ ตลอดเส้นทางมีนกมากมายหลายชนิดบินโฉบไปมา บางตัวก็เฝ้ามองหาปลาและเหยื่ออยู่นิ่งๆ

นกยอดหญ้าหัวดำ Eastern Stonechat
นกอ้ายงั่ว Oriental darter
นกเอี้ยงด่าง Asian Pied Starling
นกกาน้ำเล็ก Little Cormorant
หอส่องสัตว์ใกล้ท่าเรือบ้านเดียม

ปั่นไปได้ซักพักตามเส้นทางรอบหนองหาน เราก็เจอ “บ้านเดียม” ที่นี่มีท่าเรือใหญ่ที่คนชอบลงไปดูบัวแดงอีกจุดหนึ่ง เราได้อาหารเช้าเป็นข้าวจี่จากหมู่บ้านนี้ ที่นี่คนเยอะ รถราก็ดูวุ่นวายหน่อย แต่เป็นที่สะดวกสำหรับคนมาพักเพื่อรอชมดอกบัวตอนเช้า เพราะมีที่พักเยอะ และอาหารการกินก็หาง่าย

อาหารเช้าง่ายๆ ก็ต้องข้าวจี่ ข้าวเหนียวโรยเกลือนิดๆ ชุบไข่เอามาปิ้ง เพียงก้อนละ 5 บาท จัดไปสองสามก้อนก็อิ่มจนจุก
บรรยากาศริมน้ำ
บ้านริมน้ำ
สองพี่น้องเล่นอะไรกันนะ
ยอยกปลาขนาดใหญ่ รอเวลาน้ำขึ้น
บัวแดงที่อยู่ไม่ไกลจากฝั่ง พอมองเห็นได้
ดอกบัวของหนองหาน ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อก่อนมีแต่สีขาวเกือบทั้งหมด ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นสีชมพูไปหมด สีขาวเลยกลายเป็นดอกบัวหายากและเห็นยาก สำหรับดอกบัวของทะเลบัวแดงจะมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ บัวสาย บัวเผื่อน และบัวหลวง

เราปั่นไปจนถึงท่าเรือดอนคง แล้วก็เลี้ยวออกจากถนนรอบหนองหาน เพื่อจะไป “วัดธาตุโพนเสมา” อ.กู่แก้ว ที่นี่ไม่มีอะไรมาก แต่เราพบเสมาโบราณ และพระธาตุที่สร้างขึั้นโดยใช้ส่วนยอดของพระธาตุพนมเป็นแบบ ซึ่งหลายวัดในภาคอีสานเรา นิยมนำเสมาหินโบราณสมัยทวารวดีมาทำเป็นหลักเสมารอบอุโบสถ และการสร้างเจดีย์หรือพระธาตุหลายวัดในอีสาน ก็นิยมนำแบบของส่วนยอดพระธาตุพนมมาใช้ด้วย เนื่องจากเป็นพระธาตุสำคัญและเป็นที่เคารพสักการะของผู้คนเป็นอย่างมาก

เสมาโบราณ วัดธาตุโพนเสมา
พระธาตุภูมิโพธิ์ทอง วัดธาตุโพนเสมา

ห่างจากวัดธาตุโพนเสมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 9 กิโลเมตร เราจะไป “วัดป่าศรีคุณาราม” เป็นวัดที่มีเจดีย์ขนาดใหญ่ชื่อว่า พระมหาเจดีย์มงคล พระบรมสารีริกธาตุ (ส่วนพระจักษุธาตุ) และมีการจัดสวนที่สวยงามมาก ตามประวัติที่ปรากฏบนป้ายของวัด โดยสังเขปมีดังนี้

พระมหาเจดีย์มงคลพระบรมสารีริกธาตุนี้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญองค์พระจักษุธาตุและพระอรหันต์ธาตุไปประดิษฐาน สืบเนื่องมากจาก พระอาจารย์ประจักษ์ ภูริปัญโญ ท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุสัณฐานเมล็ดข้าวหักมาบูชา ต่อมาปี พ.ศ.2552 ปรากฏว่ามีพระบรมสารีริกธาตุลักษณะคล้ายเพชร เสด็จมาอยู่กลางผอบ และหลังจากนั้นพระธาตุของพระอรหันตสาวกก็เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ไม่มีที่เก็บรักษาได้เพียงพอ จึงได้สร้างพระมหาเจดีย์มงคลฯ นี้ขึ้นมา

พระมหาเจดีย์มงคล พระบรมสารีริกธาตุ (ส่วนพระจักษุธาตุ) 
พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระอรหันตสาวก
ภายใน ชั้น 1 พระมหาเจดีย์มงคลฯ
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระมหาเจดีย์มงคลฯ

ห่างจากวัดป่าศรีคุณาราม ไปอีกเพียง 1 กิโลเมตรกว่าๆ ก็จะพบกับโบราณสถาน “อโรคยาศาลา” ของ “วัดกู่แก้วรัตนาราม” จากป้ายของวัด บันทึกไว้ว่า

วัดและปรางค์กู่แก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านกู่แก้ว ตำบาลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี โบราณสถานแห่งนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “กู่” มีซากเจดีย์ โบสถ์ และแนวกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ในบริเวณวัดส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยต้นยางขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นสถานรักษาพยาบาล ต่อมามีการบูรณะเสริมอิฐ และได้มีการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2533 แต่ไม่เสร็จ มีพระอาจารย์ที่สำคัญได้แก่ หลวงปู่ลาย ที่ได้ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือปู่ตื้อและปู่ตัน ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเพื่อให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาลไม่แห้งแล้ง และมีพระเกจิอาจารย์สำคัญหลายรูปเคยมาที่นี่ เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น เป็นต้น (ย่อจากป้ายวัดโดยสังเขป)

เจดีย์โบราณด้านหลัง
หินเสี่ยงทาย

ภายในอุโบสถเก่าแก่ที่สร้างอยู่บนอโรคยาศาลา ที่นี่ใครอยากเสี่ยงทายยกหิน หากอฐิษฐานถามคำถามแบบมีสมาธิดีๆ จะรู้ว่าน้ำหนักหินก้อนเดียวกันที่ยกแทบไม่ขึ้นนั้น ยกได้เบาหวิวเลยทีเดียว

มีทับหลังที่สวยงาม
โคปุระด้านหน้า

จากวัดกู่แก้วรัตนาราม เราก็กลับไปที่รอบหนองหานอีกครั้ง โดยไปยังท่าเรือแชแล และท่าเรือโนนน้ำย้อย ซึ่งกว่าจะไปถึงท่าเรือโนนน้ำย้อย ก็เย็นมากแล้ว (ใครต้องการดูว่าท่าเรือไหนเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามได้ ที่นี่) และเมื่อผ่านท่าเรือโนนน้ำย้อย ก็จะเข้าสู่เส้นทางเข้าเมืองกุมภวาปี มีไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาดคือ ลิง ข้อควรระวังคือ ลิงที่นี่แม้จะอยู่ในเมือง แต่ก็ยังเป็นสัตว์ป่า ระวังลิงกัดนิ้ว และบางครั้งลิงก็จะแย่งถุงอาหาร ไม่ควรดึงกลับมา และไม่ควรชี้หน้าลิง อาจทำให้มันโกรธได้ หากโดนกัดควรรีบไปโรงพยาบาล แต่โดยมากถ้าระมัดระวังตัวไม่กวนลิง หรือโยนอาหารไกลจากตัวหน่อย ลิงที่นี่ก็จะสุภาพ อาจจะมีมาเขย่าเสื้อผ้าอยู่บ้าง

ระหว่างทางจากวัดกู่แก้วรัตนาราม มาที่ท่าเรือแชแล
ข้างๆ ถนนทรายจากภาพที่ผ่านมา เป็นสวนที่เลี้ยงควายหลายตัวมาก ทำสระน้ำเล็กๆ ให้ควายได้ลงอาบ น่ารักมาก
ลิงที่สวนสาธารณะ (สวนลิง) เมืองกุมภวาปี

เรามาถึงหมู่บ้านเชียงแหว ก็เกือบตะวันตกดิน เส้นทางเริ่มมืด รถจักรยานของสามีรั่ว ดีที่ว่ามารั่วเอาตอนถึงท่าเรือเชียงแหว ก็เลยได้จูงกลับที่พักประมาณ 2 กิโลเมตร แต่ทางก็มืดเหลือเกิน อาศัยไฟกระพริบจักรยานนำทางไปในถนนที่รถไม่ค่อยเยอะมากนักพอไหว แนะนำว่าใครจะมาเที่ยว อย่าลืมพกไฟจักรยานมาด้วย และโดยรอบทะเลบัวแดงมีจุดขายน้ำเพียงจุดเดียวคือ ท่าเรือแชแล (แต่ก็เปิดบ้างไม่เปิดบ้าง) ดังนั้นควรมีขวดน้ำพกไปด้วย เพราะระยะทางค่อนข้างไกลกว่าจะถึงหมู่บ้านต่างๆ สุดท้ายเส้นทางนี้ไม่มีที่ร่มหรือต้นไม้ใหญ่มากนัก ทาครีมกันแดดหรือใส่เสื้อแขนยาว ก็จะพอช่วยบรรเทาแดดเผาได้บ้างค่ะ.

ขากลับ เพื่อนร่วมทางก็จะเยอะหน่อย

ทริปจักรยาน ณ ทะเลบัวแดง คลิ๊ก Day 1, 2, 3

บทความและภาพโดย สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์

อ้างอิง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนองหานกุมภวาปีกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ โดย เรียมสงวน งิ้วงาม, วารสารลุ่มน้ำโขง, ข่าวสารสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9, ปีที่ 12, ฉบับที่ 1,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *