ทริปจักรยาน ณ ทะเลบัวแดง : Day 1 ขึ้นรถไฟขอนแก่นไปทะเลบัวแดง อุดรธานี

ทริปจักรยาน ณ ทะเลบัวแดง : Day 1 ขึ้นรถไฟขอนแก่นไปทะเลบัวแดง อุดรธานี

ทริปนี้พวกเราเดินทางเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ใช้เวลาท่องเที่ยว 3 วัน วันแรกขึ้นรถไฟจากสถานีขอนแก่น ไปลงสถานีกุมภวาปี มีค่ารถไฟคนละประมาณยี่สิบกว่าบาท ส่วนค่าขนส่งจักรยานไม่มี เพราะเป็นจักรยานพับได้ พวกเราวางแผนนอนโฮมสเตย์สองคืน เพื่อปั่นเที่ยวชมสถานที่รอบทะเลบัวแดง ซึ่งมีระยะทางรอบพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้ประมาณ 48 กิโลเมตร

รถไฟออกจากสถานีขอนแก่นตรงเวลาที่ 9.30 น. ฉันแบกกระเป๋าเป้ใบเดียวอยู่บนหลัง มือหนึ่งอุ้มถุงหน้ารถจักรยานที่มีน้ำดื่มและอุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับซ่อมยาง อีกมือหนึ่งเข็นจักรยานที่พับได้ แต่ด้วยความที่ลืมคิดว่าแม่เหล็กที่ดูดให้ตัวจักรยานพับติดกันแรงไม่พอสำหรับยึดจักรยานไว้ เมื่อต้องยกข้ามรถไฟมันก็หลุดออกจากกันอย่างง่ายดาย แถมไปเจอกับช่องว่างระหว่างตัวรถไฟรุ่นเก่ากับชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูงของขอนแก่น(ตอนนี้เคัาปรับปรุงให้เสมอกันแล้ว) ทำให้ต้องยกรถจักรยานข้ามไปอย่างทุลักทุเล แต่พอเข้าไปในตู้โบกี้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาสามารถเก็บจักรยานระหว่างที่นั่งได้อย่างสบาย (จักรยานเราใช้ยี่ห้อ BTWIN แบบพับได้ สั่งมาจากร้าน decathlon ที่โคราช ปั่นทางไกลได้ดีมาก แม้จะเป็นจักรยานสำหรับใช้ในเมืองก็ตาม)

เรามาถึงสถานีกุมภวาปี ตำบลพันดอน อ.กุมภวาปี เกือบ 11.00 น. ด้วยความที่โบกี้รถไฟมันสูงจากพื้นมาก ก็พากันยกรถจักรยานลงแบบทุลักทุเลพอสมควร สถานีนี้เงียบเหงา มีเราลงกันแค่สองคน พอประกอบรถจักรยานกับมัดสัมภาระเสร็จ เราก็ออกเดินทางปั่นเข้าหมู่บ้านตามทางชนบทเล็กๆ จากสถานีรถไฟกุมภวาปีไปโฮมเสตย์ที่จะพักคืนนี้ประมาณ 16 กม.

สถานที่ต่างๆ ตามเส้นทางที่เราจะไปเยี่ยมชมก่อนถึงที่พักในตอนเย็น

พวกเราผ่าน “บ้านดงแคน” เป็นหมู่บ้านแรกที่มีขนาดเล็ก ห่างจากสถานีรถไฟประมาณสองกิโลเมตรครึ่ง เพื่อไป “วัดจอมแจ้งศรีบุญเรือง” พอเข้าประตูวัดมา ก็พบกับความอลังการของอาคารไม้ทรงประยุกต์ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อราวเก้าสิบปีก่อน บูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2559 เจ้าอาวาสเล่าว่า เขาดีดตัวอาคารขึ้นจากผิวดินที่ถมสูง แล้วใช้หินศิลาแลงก่อปิดขอบฐานช่องว่างรอบอาคาร อาคารไม้หลังนี้สร้างประมาณ พ.ศ.2473 เป็นฝีมือช่างลาว สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอฉันและกุฏิพระ ถือเป็นอาคารไม้หลังใหญ่ที่สุดของอำเภอกุมภวาปีในช่วงเวลานั้น เพราะที่วัดมีพระเถระเป็นพระอุปัชฌาย์เพียงรูปเดียวของทั้งอำเภอ ซึ่งขณะนั้นอำเภอกุมภวาปีมีพื้นที่กว้างมาก ยังไม่ถูกแบ่งซอยออกเป็นอำเภอต่างๆ ดังเช่นทุกวันนี้

หอฉันและกุฏิพระ วัดจอมแจ้งศรีบุญเรือง
ด้านในของหอฉัน

จากนั้นเราปั่นขึ้นไปทางทิศเหนือ ไปเยือน “หอประชุมเมืองเก่า อาคารกงหลีเทีย” ต.พันดอน อ.กุมภวาปี เป็นอาคารเอนกประสงค์ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีภาพวาดวัฒนธรรมสังคมชาวจีนที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติหลายภาพ มีสีสันที่ฉูดฉาดตัดกันอย่างสวยงาม และบนถนนเส้นเดียวกันนี้ ก็ยังมีศาลเจ้าปู่ย่าเมืองเก่า และศาลเจ้าพ่อต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในบริเวณของศาลเจ้าปู่ย่าเมืองเก่าด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอาคารกงหลีเทีย
ศาลเจ้าปู่ย่าเมืองเก่า
ศาลเจ้าพ่อต่างๆ ที่อยู่บริเวณศาลเจ้าปู่ย่าเมืองเก่า

และที่ตำบลเดียวกัน ยังมีวัดที่มีสถาปัตยกรรมอาคารน่าสนใจอีกแห่งคือ วัดจอมศรี ที่นี่มีอาคารไม้โบราณขนาดใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยมทรงมอญ เป็นกุฏิ 100 ปี พระครูพิทักษ์ คณานุการ ญาพ่อตู้ (สี เอกวงศ์) แบบจากกรุงเทพฯ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2464 เป็นอาคารทรงโดมเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน มีบันไดขึ้น 2 ด้าน อาคารหันไปทางทิศใต้ สร้างจากไม้เนื้อแข็ง โดมหลังคาฉลุลายเทพพนม ด้านในอาคารเป็นห้องโถงโล่งไม่ได้ใช้งานมานาน บางส่วนเริ่มผุพังตามกาลเวลา

วัดจอมศรี
ด้านในกุฎิร้อยปี
ที่วัดจอมศรี มีงานบุญกฐินพอดี เราเลยได้ดูการกวนข้าวทิพย์

จากนั้นเราก็ไปเยี่ยมชมวัดลำดวนสุริยวาส ที่นี่มีอุโบสถที่ออกแบบดีมาก เรียกได้ว่าสร้างอินโนเวชั่นรูปแบบของอุโบสถที่จะทำให้นกพิราบแทบไม่มีที่เกาะใต้หลังคาอีกต่อไป

วัดลำดวนสุริยวาส
เส้นทางจาก ต.พันดอน ไปยัง ต.เชียงแหว ใกล้กับฝั่งตะวันตกของทะเลบัวแดง
บรรยากาศตามข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนา

จบทริปสำหรับวันนี้ที่ Village Homestay ที่ตำบลเชียงแหว การปั่นจักรยานวันนี้เป็นไปอย่างสบายๆ อาหารการกินสามารถหาร้านอาหารได้ง่ายๆ ยกเว้นที่โฮมเสตย์ที่เราพัก เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ที่มีร้านอาหารเปิดถึงตอนบ่ายแก่ๆ แค่สองร้านคือ ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอาหารตามสั่ง ใครไปถึงเย็นมากๆ อาจจะต้องเผื่ออาหารสำรองเข้าไปด้วย แผนการวันพรุ่งนี้ของพวกเราก็คือจะออกปั่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อที่จะได้มีโอกาสดูพระอาทิตย์ขึ้นกัน วันนี้ได้ที่พักดี เจ้าของน่ารัก ทำให้เราหายเหนื่อยไปเยอะเลยทีเดียว

Village Homestay

ตอนที่ 1, 2, 3, …

…..

บทความและภาพถ่าย โดย สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *