ประวัติวัดกลางและพระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (ริมบึงแก่นนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ประวัติวัดกลางและพระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (ริมบึงแก่นนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ประวัติวัดกลาง (โดยสังเขป)
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

วัดกลาง รหัสวัด ๐๔๔๐๐๑๐๑๐๐๒

ตั้งอยู่ที่บ้าน เมืองเก่า เลขที่ ๓๔๗ หมู่ที่ – ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

โทรศัพท์ ๐๘๑-๗๙๙๙๓๖๓ , ๐๘๖-๘๕๕๒๗๓๔

สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย พิกัดของวัดละติจูด ๑๖.๔๑๔๐๗๙ , ๑๐๒.๘๓๔๙๐๑ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๓๓ โดยพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี (ท้าวเพียเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก เป็นผู้ก่อสร้างพร้อมการตั้งเมืองขอนแก่น เป็นวัดที่อยู่ระหว่างวัดเหนือ (ปัจจุบันวัดหนองแวง พระอารามหลวง) และวัดใต้ (ปัจจุบันวัดธาตุ พระอารามหลวง) มีพื้นที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ๙/๑๐ ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ ๗๐๙

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒

มีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ประมาณ ๒ เส้น ๔ วา จรดที่ดินเอกชน
ทิศใต้ ประมาณ ๒ เว้น ๓ วา จรดถนนเหล่านาดี
ทิศตะวันออก ประมาณ ๓ เส้น ๗ วา จรดถนนรอบบึง
ทิศตะวันตก ประมาณ ๓ เส้น ๕ วา จรดถนนกลางเมือง

ปูชนียวัตถุ

หลวงพ่อใหญ่ พระประธานประจำอุโบสถ ขนาดหน้าตัก ๒ เมตร สูง ๕ เมตรสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๓
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางพุทธชินราช ขนาดหน้าตัก ๑.๕๐ เมตร สูง ๓ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) กว้าง ๙ เมตร ๘๔ เซนติเมตร ยาว ๙ เมตร ๘๔ เซนติเมตร สูง ๒๙ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร
หลวงพ่อใหญ่ พระประธานประจำอุโบสถ วัดกลาง ขอนแก่น ขนาดหน้าตัก ๒ เมตร สูง ๕ เมตรสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๓

อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย

อุโบสถ คอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐
ศาลาการเปรียญ คอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๕ หลัง คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๓ หลัง อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๒ หลัง
วิหาร กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐
พลับพลาพิศาลมงคล คอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง ๑๒ เมตรยาว ๒๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒
ศาลาบำเพ็ญการกุศล คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๓ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐
อาคารปฏิบัติธรรม คอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๖ เมตร สูง ๔ ชั้นสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑
นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้
ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง หอกลอง จำนวน ๑ หลัง และเรือนรับรอง จำนวน ๑ หลัง

วัดกลาง บึงแก่นนคร ขอนแก่น
พระอุโบสถ วัดกลาง เมืองขอนแก่น สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐

การศึกษา

มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ระดับชั้น นธ.ตรี – นธ.เอก เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ระดับชั้น ปธ.๑-๒ , ปธ. ๓ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ระดับชั้น อนุบาลปฐมวัย เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เป็นสำนักปฏิบัติประจำจังหวัด แห่งที่ ๓๕ แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ มติ มส. ครั้งที่ ๑๘๑/๒๕๕๕

การบริหารและการปกครอง

ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้
ลำดับที่ ๑ ไม่ปรากฏชื่อ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐
ลำดับที่ ๒ พระครูพิศาลอรัญญเขตร์ ที่สังฆปราโมกข์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑
ลำดับที่ ๓ ไม่ปรากฏชื่อ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓
ลำดับที่ ๔ พระมหาสุบิน สุวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๗
ลำดับที่ ๕ พระครูมงคลสารนิเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๐
ลำดับที่ ๖ พระครูมัชฌิมธรรมโสภณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึง ปัจจุบัน

ข้อมูลโดย พระครูมัชฌิมธรรมโสภณ
เจ้าอาวาสวัดกลาง

ประวัติ
พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ

วัดกลาง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดกลาง เป็นพระมหาธาตุมีฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๙.๘๔ เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุพนมผสมพระธาตุขามแก่น พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) เป็นพระมหาธาตุที่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

๑. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวาระตรัสรู้ครบ ๒๖ ศตวรรษ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
๒. เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
๓. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ห้ว ในวโรกาสพิธีบรมราชาภิเษกในปี ๒๕๖๒
๔. เพื่อทูลถวายเป็นพระกุศล เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙
๕. เพื่อเป็นอนุสรณ์บรรพชนอันมี พระครูพิศาลอรัญเขตร อดีตเจ้าอาวาส พระนครศรีบริรักษ์ ผู้สร้างวัด เป็นต้น
๖. เพื่อเป็นศูนย์ร่วมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเพื่อเป็นมรดกแก่อนุชน
เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และเป็นศาลาประชาธรรมในการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระมหาธาตุ

ความสูงขององค์พระมหาธาตุฯ ๒๙ เมตร มียอดจุลธาตุ ๘ ยอด ตั้งอยู่ ๔ ทิศล้อมรอบยอดพระมหาธาตุ

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร
คชสีห์นาคราช เป็นพญานาคที่คิดแบบผสมผสานกับสีโห วัดกลางเป็นผู้ออกแบบ

ภายในองค์พระมหาธาตุมีอยู่ ๓ ชั้น

ชั้นที่ ๑ เมื่อเดินขึ้นภายในพระธาตุบริเวณชั้นแรก เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกและแวดล้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ ๘๐ องค์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง (สถานที่ประสูติ,ตรัสรู้,แสดงปฐมเทศนา,ปรินิพพาน) มีจิตกรรมผาผนังเป็นเทพชุมนุม ดาวล้อมเดือน และพุ่มข้าวบิณฑ์
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องพระธรรมบรรจุของมงคลและคัมภีร์
ชั้นที่ ๓ เป็นห้องพระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร
ภายในอาคาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

วัดกลาง บึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น ขอนแก่น สถานที่ท่องเที่ยว

วัดกลาง บึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น ขอนแก่น สถานที่ท่องเที่ยว

วัดกลาง บึงแก่นนคร ขอนแก่น

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร
รูปปั้นหล่อ ในหลวง ร.๙ เมื่อคราวทรงผนวช

 

สำหรับรูปแบบพระมหาธาตุเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ใช้โครงสร้างสมัยใหม่เปิดให้เข้าใช้พื้นที่ภายในเบื้องล่าง และมีลานประทักษิณโดยรอบสำหรับการใช้สอยได้ ซึ่งมีการคลี่คลายมาจากรูปแบบพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธาที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย

ลักษณะเก้ายอด สื่อถึงพระมหาธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๙ และ นวโลกุตรธรรม ๙ ประการในพระพุทธศาสนา ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยได้รับการประทานจาก สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙

ในส่วนลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมได้ออกแบบให้มีลักษณะของเจดีย์เหลือมทรวดทรงแบบอีสานมีซุ้มพระพุทธรูปอยู่โดยรอบเจดีย์ภายในมีห้องเก็บพระธาตุ ห้องเก็บพระธรรม ห้องพระบรมสารีริกธาตุ ห้องโถงและประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูปและสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ร่วมเป็น ๘๔ องค์ ขนาดฐานพระเจดีย์กว้าง ๙.๘๔ เมตร ยาว ๙.๘๔ เมตร ความสูงถึงยอดฉัตรสูงสุด ๒๙ เมตร

โดยวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เสร็จ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๙ ปี สิ้นงบประมาณ ๒๙ ล้านบาท โดยได้รับการอุปถัมภ์ทุนเบื้องต้นจากเทศบาลนครขอนแก่นจำนวน ๕ ล้านบาท และสาธุชนชาวขอนแก่น จำนวน ๒๔ ล้านบาท ประกอบพิธียกฉัตร เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ เพื่อเป็นปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาและแผ่นดินสืบไป

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร

วัดกลาง ในเมือง ขอนแก่น ริมบึงแก่นนคร
วัดกลาง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของบึงแก่นนคร

แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”

 

…..

อ้างอิง

ข้อมูลจาก วัดกลาง

กราบขอบพระคุณ พระครูปริยัติ มัชฌิมานุกูล ที่ได้ให้ความเมตตาข้อมูลของวัดกลาง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมา ณ โอกาสนี้

 

ภาพโดย: สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *