พัฒนาการเมล็ดข้าว: ช่วงออกดอก จนถึง เมล็ดสุก

พัฒนาการเมล็ดข้าว: ช่วงออกดอก จนถึง เมล็ดสุก

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ข้าว: นิทานปรัมปราและการปลูกข้าวแบบชาวบ้านเล่า ซึ่งจะนำภาพ “พัฒนาการเมล็ดข้าว” เริ่มตั้งแต่การแทงช่อดอกของต้นข้าวไปเรื่อยๆ จนถึงลักษณะของเมล็ดก่อนการเก็บเกี่ยว ภาพที่ได้มาเกิดจากการสะสมเวลาไปเที่ยวตามที่ต่างๆ และไปเฝ้าดูในไร่ที่ไม่ไกลจากตัวเมือง ดังนั้นภาพของต้นข้าวและเมล็ดข้าวที่นำเสนอ จึงไม่ใช่ภาพของต้นข้าวที่ได้มาจากแปลงเดียวกันทั้งหมด แต่มีการเรียงลำดับเวลาตามวิชาการ

ในบทความนี้ การอธิบายอาจจะไม่ได้ใช้ศัพท์เทคนิคมาก เน้นอธิบายจากการสังเกต และก็ได้คัดเอาคลิปของยูทูปที่ดีๆ ทั้งของผู้เขียนที่ทำไว้ และจากที่อื่นๆ มาลงให้เพิ่ม เพื่อทำให้มองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้อยู่ใกล้ต้นข้าว คลิปด้านล่างนี้ จะรีวิวส่วนประกอบต้นข้าว ก่อนจะมีดอกและเมล็ด เพื่อที่จะทำความเข้าใจสรีระของต้นข้าว แล้วจากนั้นเราก็ค่อยไปดูกันว่า หลังจากข้าวแตกกอแล้ว เมล็ดเกิดและมีพัฒนาการอย่างไร?

หลังจากที่ต้นกล้าขึ้นแล้ว ก็จะโตขึ้นมาเป็นต้นเดี่ยวๆ ก่อนที่จะแตกกอ ผลิตรวงข้าวเป็นของตัวเอง

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa
ต้นข้าวกำลังแทงช่อดอกที่เกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว (ซึ่งต่อไปเมื่อดอกข้าวผสมพันธุ์แล้ว ช่อดอกนี้ก็จะกลายเป็นรวงข้าวนั่นเอง)

 

 

 

 

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว
ส่วนประกอบของดอกข้าว ได้แก่ ดอกข้าว ก้านช่อดอก แขนง ฐานช่อดอก สำหรับส่วนที่อยู่ระหว่างข้อสุดท้ายกับข้อต่อของใบธงจะกลายเป็น คอรวง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ข้าวก็จะมีคอรวงที่ยาวแตกต่างกัน เป็นผลให้เกิดการออกแบบเครื่องมือสำหรับเกี่ยวข้าว ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปอีกด้วย (ภาพวาดจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 3)
ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa
ข้าวระยะเป็นดอก ภาพวาดจะแสดงให้เห็นว่า ดอกข้าวจะบานออก จากนั้นก้านของเกสรตัวผู้ 6 อัน จะค่อย ๆ ยืดยาวออกนอกดอกข้าว ต่อมากระเปาะเกสรตัวผู้จะแตกออก และปล่อยละอองเกสรตกลงมาบนที่รับละอองเกสรตัวผู้ หรือเรียกว่า เกสรตัวเมีย (บางท่านว่า ละอองเริ่มหลุดออกบ้างตอนโดนที่รับละอองเกสรตั้งแต่ดอกยังไม่บาน) จากนั้นดอกข้าวก็จะหุบลงอีกครั้งในเวลาไม่นานนัก โดยมีแผ่นเล็กๆ อยู่ด้านล่างของฐานเปลือกนอกสองแผ่น ที่เรียกว่า Lodicules คอยบังคับการเปิด-ปิด หลังจากปิดงับสนิทแล้ว ก็จะทิ้งให้เกสรตัวผู้ที่ละอองหลุดออกหมดแล้ว ห้อยโตงเตงแห้งเหี่ยวอยู่ด้านนอกของส่วนที่กำลังจะกลายไปเป็นเมล็ดในอนาคต ปกติการผสมเกสรจะเริ่มในดอกเดียวกันในตอนเช้า และดอกเริ่มบานจากปลายรวงมาที่โคนรวงข้าว (คลิปด้านล่างจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากขึ้น เริ่มประมาณนาทีที่ 0.48 / ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก Genomics Lab และภาพวาดจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 3)

ภายหลังจากการผสมพันธุ์ของเกสรตัวผู้และตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้ก็จะงอกลงไปตามก้านของเกสรตัวเมีย และลงไปผสมกับในรังไข่ นิวเคลียสไหนที่ผสมกับไข่ ก็จะเป็นคัพภะ อันไหนที่รวมกับนิวเคลียสอื่นๆ ก็จะเจริญกลายเป็น แป้ง คือ ส่วนที่คัพภะเอาไว้เป็นอาหารตอนงอกต้นใหม่นั่นเอง

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa
ส่วนประกอบของเมล็ดข้าว (อ้างอิง จากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3)

ภายหลังผสมพันธุ์แล้ว เมล็ดข้าวก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ คือ ด้านในเปลือกข้าวจะเป็นของเหลวมีน้ำสีขาวขุ่นๆ เหมือนสีน้ำนม ลองชิมดูจะให้รสชาติหวานนิดๆ ก็เลยเรียกระยะนี้ว่า ข้าวเป็นน้ำนม

ถัดจากระยะนี้มาด้านในเมล็ดก็จะเริ่มฟอร์มตัวแข็งขึ้นเรื่อยๆ (อารมณ์คล้ายๆ เหมือนเวลาเราผสมปูนกับน้ำละลายใส่กัน พอซักพัก ปูนก็จะเริ่มอิ่มตัว และกลายเป็นซีเมนต์แข็งขึ้นมา) เปลือกที่หุ้มเมล็ดด้านนอกก็จะมีสีเขียวปนเหลืองอ่อนๆ และเยื่อหุ้มเมล็ดด้านในก็จะมีสีเขียวขาวอ่อนๆ พอหักบี้ออก เมล็ดข้าวด้านในที่ยังไม่แข็งตัวดี ก็จะแตกออกเป็นผงแป้งสีขาวชื้นๆ บดได้ง่ายๆ

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa
ลองแกะดูข้าวที่ยังอ่อนๆ หลังจากพ้นระยะเป็นน้ำนมแล้ว
ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa
ด้านในเป็นแป้งชื้นๆ บี้ได้ง่ายๆ

ช่วงนี้ถ้าสังเกตเป็นช่วงที่เขาเอาไปทำข้าวเม่า นิยมเป็นข้าวเม่าข้าวเหนียว โดยวิธีแบบเดิมเขาจะเอาไปคั่ว แล้วค่อยมาตำใส่ครกกระเดื่องให้เปลือกหลุด แล้วก็แยกเปลือกออก จะได้เมล็ดข้าวแบนๆ มีสีเขียว(เขียวจากสีของเยื่อหุ้มเมล็ด) ลักษณะนิ่ม สามารถนำมาคลุกกับมะพร้าวขูด แล้วโรยน้ำตาล ใส่เกลือนิดๆ ผสมให้เข้ากัน เป็นของว่างที่อร่อยมาก

ระยะต่อมา เมื่อข้าวใกล้สุก เมล็ดข้าวด้านในก็จะเริ่มแข็งขึ้น ส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดนั้น จากสีเขียวอ่อนก็เปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น ขณะที่เปลือกด้านนอกสีเขียวปนเหลืองเริ่มหายไป ได้เปลือกสีเหลืองทองเข้ามาแทน

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว, ดอกข้าว, Orysa, sativa

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว
ข้าวเริ่มสุกจากปลายรวงมายังโคนรวง

ผู้เขียนทำคลิปวีดีโอให้เห็นภายในของรวงข้าวที่กำลังเริ่มสุก ถ้าเวลาผ่านไปอีกซักสามสี่วัน ข้าวรวงนี้ก็คงจะมีสีเหลืองทั้งหมด อย่างภาพท้ายสุดที่นำมาลงให้ดู

ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว
เมล็ดข้าวที่สุกทั้งรวงแล้วแบบเห็นชัดเจน จะสังเกตได้ว่าเปลือกข้าวจะมีขนและมีสีเหลืองทอง ข้าวที่เราปลูกในนาตอนนี้ บริเวณส่วนปลายของเมล็ดจะไม่มีหางข้าว ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย แต่ถ้าเจอที่มีหางจะเป็นพันธุ์ข้าวป่า
ข้าว, เมล็ดข้าว, การเปลี่ยนแปลงต้นข้าว, ลักษณะเมล็ดข้าว
ปิดท้ายด้วยภาพการเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวแบบโบราณ หลายพื้นที่ก็จะมีเทคนิคต่างกันไป แต่ยังคงหลักการเดียวกันที่จะต้องตีหรือหวด เมล็ดจึงจะหลุดออกมา

ขอขอบคุณ

แปลงเกษตร บ้านศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น

แปลงเกษตรของแม่ติ๋ม ถนนรอบเมือง จ.ขอนแก่น

ครอบครัวชาวอำเภอแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น

ผู้เขียน

สุทธวรรณ บีเวอ

ข้อมูลอ้างอิง

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 3, 2527, พิมพ์ครั้งที่3, กรุงเทพฯ

Genomics Lab, https://www.youtube.com/watch?v=WCY1KLllngQ

Jookbang, https://www.youtube.com/watch?v=K1jbisshJU0&t=13s

และ https://www.youtube.com/watch?v=SCpzRvlg61g

ภาพ 

อีสานอินไซต์

ภาพวาด

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 3, 2527, พิมพ์ครั้งที่3, กรุงเทพฯ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *