ตอนที่ 1 หนังสือชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และธรรมบรรยาย (หนังสือพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ปี พ.ศ.2493)

ตอนที่ 1 หนังสือชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และธรรมบรรยาย (หนังสือพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ปี พ.ศ.2493)

หนังสือ ชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และธรรมบรรยาย ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ คณะเจ้าภาพ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2493 ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร แอดมินมีหนังสือเล่มนี้อยู่ที่บ้านในตู้หนังสือคุณปู่คุณย่า วันนี้เป็นโอกาสดีได้ทำการคัดลอกลงในเว็ปไซต์ เข้าใจว่ามีหลายท่านหาอ่านอยู่ และอาจเป็นหนังสือที่หายากพอสมควร ขณะค้นหายังไม่เห็นการพิมพ์ลงเพื่อเผยแพร่ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านที่สนใจ อย่างไรก็ตามเนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีความยาวกว่า 223 หน้า ทำให้ต้องตัดทอนทะยอยลงเพื่อไม่ให้ยาวเกินไปนัก คือพิมพ์เสร็จแต่ละตอนก็จะรีบนำลงอัพเดทให้ติดตาม ทำให้มีหลายตอนด้วยกัน และท้ายสุดจะนำลงเป็นไฟล์ให้สามารถดาวน์โหลด ผู้อ่านสามารถนำไปจัดทำเป็นเล่มไว้สำหรับตนเองได้สะดวก

อนึ่งแอดมินพยายามคงการสะกดตามแบบรูปหนังสือที่พิมพ์ในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะคำศัพท์เฉพาะของพระสงฆ์ ส่วนคำโดยทั่วไปจะมีการแก้ไขใช้การสะกดแบบปัจจุบัน เนื่องจากหนังสือเก่ามีคำที่พิมพ์ผิดผสมปนกันไป ซึ่งแอดมินคิดว่าผู้พิมพ์เดิมคงอาจจะไม่ได้สะดวกแก้ไขนัก เพราะสมัยนั้นก็มีแต่เครื่องพิมพ์ดีด

ตอนที่ 1 หน้าปก คำนำ คำชี้แจง

ชีวประวัติ

ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และ ธรรมบรรยาย

ของ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร
——————

คณะเจ้าภาพ
พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓
ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง
จังหวัดสกลนคร

หน้า ก-หน้า ง

คำนำ

ในงานฌาปนกิจศพ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร คณะศิษยานุศิษย์ ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นประธานได้ปรึกษาหารือกัน ตกลงให้มีการพิมพ์หนังสือแจกเรื่องหนึ่ง คือให้เรื่องประวัติของท่านอาจารย์ เพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์เละอนุชนรุ่นหลังอย่างหนึ่ง รวบรวมธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดได้จดบันทึกไว้ มาตีพิมพ์แจกเพื่อเป็นมรดกแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วถึงกัน จะได้ไม่มีใครเสียใจว่าไม่ได้รับมรดกอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งให้รวบรวมบทประพันธ์ และบทธรรมบรรยายเท่าที่มีอยู่ อันท่านมอบไว้เป็นมรดก แก่พระภิกษุทองคำนั้นมารวมตีพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มเดียวกันนั้นด้วย จะได้เป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่านอาจารย์ทั่วถึงกัน ที่ประชุมได้ตกลงให้มอบภาระในการนี้แก่พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เสง) ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งเป็นผู้จัดทำ เธอเต็มใจรับภาระและจัดทำสำเร็จเรียบร้อยเป็นเล่มสมุดทันแจกในงานฌาปนกิจสมประสงค์. 
และหนังสือนี้ คณะอุบาสกอุบาสิกามีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างถวายท่านอาจารย์เพื่อแจกท่านผู้ร่วมงานฌาปนกิจศพของท่าน จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนาทั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง.
อนึ่ง งานศพของท่านอาจารย์ นับแต่วาระที่ท่านสิ้นลมปราณมาจนถึงวันฌาปนกิจนี้ ได้มีการบำเพ็ญบุญอุทิศถวายทุกวัน คือ มีการสวดมนต์ บังสุกุลและแสดงธรรม โดยเฉพาะสัตตมวารหนึ่ง ๆ นับแต่วันมรณภาพมา ได้มีการบำเพ็ญบุญอุทิศถวายเป็นพิเศษ โดยคณะสัปบุรุษ และศิษยานุศิษย์ร่วมกันทุกๆ สัตตมวาร คือ มีการเจริญพระพุทธมนต์ บังสุกุล แสดงพระธรรมเทศนา และถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐ รูปขึ้นไป ถึง ๑๐๐ รูป นับว่างานศพได้เป็นไปอย่างสมเกียรติตลอดมา น่าปิติโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง.
การที่งานศพท่านอาจารย์ได้เป็นไปอย่างสมเกียรติตลอดมา จนถึงวาระการฌาปนกิจนี้ สำเร็จด้วยความสามัคคีร่วมจิตต์ร่วมใจของคณะสัปบุรุษชาวเมืองสกลนคร ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคณะกรรมการจัดการศพ มีท่านข้าหลวงประจำจังหวัดสกลนคร เป็นประธานในฝ่ายคฤหัสถ์ และความสามัคคีของคณะศิษยานุศิษย์ในฝ่ายบรรพชิต ทั้งใกล้ไกลซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นประธาน คณะกรรมทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้สละกำลังกาย กำลังความคิดสติปัญญาและกำลังทรัพย์ ร่วมกันประกอบกิจทุกอย่าง อันเกื้อกูลแก่การศพท่านอาจารย์ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะในเรื่องวิ่งเต้นขวนขวายจตุปัจจัยไทยทาน และกิจการทั่วไป ย่อมสำเร็จได้ด้วยกำลังของคณะกรรมการฝ่ายคฤหัสถ์ ซึ่งมีท่านข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธาน ข้าพเจ้าในนามประธานคณะศิษยานุศิษย์ของท่านอาจารย์ ขอขอบคุณและอนุโมทนาสาธุการไว้ในที่นี้ด้วย
ขอกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของคณะกรรมการจัดการศพทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต และเหล่าสาธุชนทั่วไป ที่จงใจบำเพ็ญเพื่ออุทิศถวายแด่ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถรนั้น จงสำเร็จเป็นปัจจัยแห่งความสุขความเจริญแด่ท่านอาจารย์ และผู้บำเพ็ญทุกท่าน ตลอดกาลนานเทอญ.

พระธรรมเจดีย์

วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓

หน้า (๑) -หน้า (๗)

คำชี้แจง

ในงานฌาปนกิจศพ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร คณะศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งมีเจ้าประคุณ พระธรรมเจดีย์ เป็นประธาน ได้ประชุมปรึกษาหารือการศพ ตกลงให้มีการรวบรวมประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และบทธรรมบรรยาย ของท่านอาจารย์ที่กระจัดกระจายกันอยู่มาพิมพ์รวมกัน เพื่อแจกเป็นมรดกแต่ศิษยานุศิษย์ทั่วถึงกัน และเผื่อแผ่แก่สาธุชนทั่วไปที่ได้มาร่วมในการศพ หรือมิได้มาก็ดี จะได้เป็นอนุสสรณียวัตถุระลึกถึงท่านอาจารย์ไปตลอดกาลนานด้วย ที่ประชุมตกลงมอบภาระนี้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เต็มใจรับภาระจัดทำตามประสงค์เพื่อสนองคุณครูบาอาจารย์ ผู้ประทานแสงสว่างทางจิตต์ใจแก่ข้าพเจ้า.
ในการเรียบเรียงชีวประวัติของท่านอาจารย์ ได้อาศัยบันทึกคำบอกเล่าของท่านอาจารย์ตามที่พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับอาศัยปฤกษาไต่ถามท่านเทศ เทสรํสี ศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้ติดตามท่านอาจารย์ไปถึงเชียงใหม่ ได้อยู่ในสำนักท่านอาจารย์นานกว่าศิษย์อื่น ๆ และความจดจำของข้าพเจ้าเองประกอบกัน แม้ข้าพเจ้าจะมีโอกาสได้อยู่ในสำนักท่านอาจารย์ชั่วเวลาน้อย ท่านอาจารย์ก็ได้บอกเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรแก่ข้าพเจ้ามิใช่น้อย ชะรอยท่านจะเล็งเห็นว่า ข้าพเจ้าจะได้เขียนชีวะประวัติของท่านในอวสานต์สมัยก็อาจเป็นได้ ชีวประวัติของท่านอาจารย์ที่เรียบเรียงนี้ ก็ไม่หมดสิ้น เนื่องจากมีเวลาน้อย หวังว่าคงได้รับอภัยจากศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน.
ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ ได้รวบรวมพิมพ์แล้วชุดหนึ่ง ซึ่งให้ชื่อว่า มุตโตทัย ในการพิมพ์ครั้งแรก ข้าพเจ้าบอกเหตุผลที่ให้ชื่อนี้ไว้แล้ว ผู้พิมพ์ต่อ ๆ มาไม่รักษาคำนำเดิมไว้จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาว่า ชื่อนี้ความหมายอย่างไร ? เป็นต้น จึงขอแถลงไว้ในที่นี่ เพื่อผู้พิมพ์ต่อไปจะได้ทราบเหตุผลและบอกไว้.
การที่ให้ชื่อธรรมเทศนา ของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่ามุตโตทัยนั้น อาศัยคำชมของเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถร จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วย มูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ว่า ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วยมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูป ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย ในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้ว แต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัย จึงกล่าวแก้ทางใจ ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่า ข้าพเจ้าแก้ถูก ซึ่งทำความปลาดใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่า หมายความอย่างไร ? ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริง แต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้ จึงได้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่าเป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้นนั่นเอง.
ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยัง กับ พระภิกษุทองคำเป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านโคกนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าก็รับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง จึงขอชี้แจงไว้ในที่นี้ คือ ข้อที่ว่า พระสัทธรรม เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้นหมายความว่าไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ ปนออกมาด้วย เพื่อรักษาพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์สอาด คงความหมายเดิมอยู่ได้ ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอม คือ อุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไป ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่าน ผู้แสดงที่จะชักจูงจิตต์ใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าผู้ฟังมีใจสอาด และเป็นธรรมแล้ว ย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้.
ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ ที่พระภิกษุทองคำญาโณภาโสกับพระภิกษุวัน อุตฺตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย คือ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๑-๒๔๙๒ ก่อนหน้ามรณสมัยเพียงเล็กน้อยนั้น ได้รวบรวมนำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่ เช่นเดียวกับครั้งก่อน.
ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ชุดนี้ หากจะพิมพ์เผยแผ่ต่อไป ก็ควรพิมพ์รวมกันในนามว่า มุตโตทัย และควรบอกเหตุผล และผู้ทำดังที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้นี้ด้วย จะได้ตัดปัญหาในเรื่องชื่อ และที่มาของธรรมเทศนาด้วย.
ส่วนบทประพันธ์ และบทธรรมบรรยายของท่านอาจารย์นั้น ปรากฏมีในสมุดของเก่าที่มอบให้เป็นมรดกแก่พระภิกษุทองคำ ผู้อุปฐากใกล้ชิดในปัจฉิมสมัย บทประพันธ์นั้นคล้ายร่ายหรือกลอนแปด เป็นลายมือของท่านอาจารย์เขียนเอง และบอกไว้ตอนท้ายว่าท่านอาจารย์เป็นผู้แต่ง ครั้งอยู่วัดปทุมวัน พระนคร ส่วนบทธรรมบรรยายนั้น เขียนด้วยอักษรธรรม เป็นลายมือของท่านอาจารย์เหมือนกัน สังเกตดูเป็นของเก่าท่านอาจารย์คงตัดย่อความเอามา มีอธิบายข้อธรรมในโสฬสปัญหาบ้าง อภิธรรมบ้าง อธิบายกรรมฐานบ้าง อธิบายวินัยกรรมบางอย่างบ้าง และที่สำคัญที่สุดก็คือกำหนดคืบพระสุคตไว้ ซึ่งตรงกับพระมติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระมหาสมณเจ้า ซึ่งเป็นมติที่ได้รับความรับรองในหมู่ผู้ปฏิบัติทางจิตต์ใจ อันศิษยานุศิษย์ควรได้รับเป็นมรดกทั่วถึงกัน.
ในการคัดลอกบทธรรมบรรยาย ซึ่งเป็นตัวอักษรธรรมลงสู่อักษรไทยนั้น ได้อาศัยกำลังของพระภิกษุฉัตร โสมบุตร จีรปุญโญ โดยตลอด จึงจารึกนามเธอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกไปนาน ๆ.
อนึ่งในการทำหนังสือนี้ ได้อาศัยกำลังกาย กำลังความคิดสติปัญญา และกำลังทรัพย์จากสาธุชนทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตมากหลายท่านด้วยกัน สุดที่จะจารึกนามไว้ได้หมด จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญไว้ในที่นี่ทั่วกัน.

พระอริยคุณาธาร


เสนาสนะป่าเขาสวนกวาง ขอนแก่น
วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๓

อ่านต่อ ตอนที่ 2 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ชาติสกุล รูปร่างลักษณะและนิสสัย การศึกษา การบรรพชา (หน้า 10-14)

ไปตอนที่ 1, 2, 3, 4, 5, …

อ่านฉบับเต็ม e-book และ ไฟล์ดาวน์โหลดหนังสือหลวงปู่มั่นได้ ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *