หลวงพ่อพระเสาร์: ที่มาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากเอกสารวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ หรือ วัดหอก่อง อ.เมือง จ.หนองคาย

หลวงพ่อพระเสาร์: ที่มาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากเอกสารวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ หรือ วัดหอก่อง อ.เมือง จ.หนองคาย

หลวงพ่อพระเสาร์เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีพุทธลักษณะที่งดงามองค์หนึ่ง ฐานและองค์พระมีความประณีต วิจิตรงดงามมาก ลักษณะพิเศษของหลวงพ่อพระเสาร์ คือ เล็บพระหัตถ์และริมพระโอษฐ์เป็นทองนาค รวมทั้งฐานรองรับก็เป็นทองนาคเช่นกัน..

แอดมินได้เอกสารนี้มาจากพระอาจารย์ที่วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ (วัดหอก่อง) อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย จึงได้เรียบเรียงนำมาลงไว้ เพื่อผู้ที่สนใจศึกษาและเรียนรู้ในด้านประวัติศาสตร์จากคนในท้องถิ่น

คำไหว้หลวงพ่อพระเสาร์

(ตั้งนะโม 3 จบ)

อิมัง พุทธรูปัง ปูเชมิ ตัสสานุภาเวนะ

ทีฆายุกา มัยหัง โหตุ สะตะวัสสะชีเวนะ

สมังคิโก โหตุ สัพพะทา ฯ

คำแปลการไหว้หลวงพ่อพระเสาร์

ข้าพเจ้า ขอบูชาซึ่งพระพุทธรูป (ชื่อว่าหลวงพ่อพระเสาร์) นี้ ด้วยอานุภาพแห่งการบูชานี้ ขอความเป็นผู้มีอายุยืนยาว เป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความเป็นอยู่สิ้นร้อยปี จงมีแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลนาน ทุกเมื่อ เทอญ ฯลฯ

(อานิสงส์ของการกราบไหว้สักการะพระเสาร์ ผู้ใดได้กราบไหว้ อายุมั่นขวัญยืน พรั่งพร้อมด้วยโภคทรัพย์)

หลวงพ่อพระเสาร์มีขนาดหน้าตักกว้าง 65 ซม. สูง 151 ซม. ฐานองค์กว้าง 63 ซม.
สูง 102 ซม.ฐานรองรับกว้าง 105 ซม. สูง 57 ซม. มีอักษรธรรมจารึกที่ฐานรองรับองค์พระ

ประวัติการสร้างหลวงพ่อพระเสาร์

สร้างโดย “พญาสุนน” เจ้านครศรีเชียงรุ้ง พร้อมราชเทวีและข้าราชบริพารทั้งมวล โดยได้ร่วมกันสร้างขึ้น มุ่งสู่ความสำเร็จมรรคผลนิพพานตามคติและความเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างในวันที่ 1 เดือน 3 แรม 8 ค่ำ ปีมะโรง เวลาประมาณ 15.00 น. ฤกษ์ 16 พุทธศักราช 2111 ตั้งชื่อว่า พระเสาร์ ต่อมาจึงนำมาถวายพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองอาณาจักรล้านช้าง ในสมัยนั้นพระไชยเชษฐาธิราช เป็นผู้นำในการสร้างพระพุทธรูปสำคัญฯ เช่น พระเจ้าองค์ตื้อ พระสุก พระเสริม พระใส พระเสาร์ พระไชยเชษฐา พระบาง พระเสี่ยง พระสำคัญๆ ในราชอาณาจักรลาว และรวมทั้งภาคอีสานของไทย

ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพระเสาร์ ได้ถูกอัญเชิญลงมาในขบวนแห่อัญเชิญพร้อมกับพระสุก พระเสริม พระใส พระเสี่ยง พระเสาร์ ตลอดพระบริวารทั้งหลายในคราวที่ได้ไปอัญเชิญจากถ้ำภูเขาควายในประเทศลาว เมื่อครั้งที่ไทยยกกองทัพไปปราบปรามความสงบ สมัยเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์ พ.ศ.2369

โดยเมื่อครั้งในอดีตกาล ประเทศลาวเป็นเมืองขึ้นของประเทศไทยและต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายทุกๆ ปี และขณะเดียวกันนั้น ตรงกับสมัยเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้ก่อการกบฏขึ้น ไม่ยอมสวามิภักดิ์กับประเทศไทย และยังส่งกองทหารเข้ามาหมายกวาดต้อนผู้คนที่เคยถูกไทยกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย สมัยรัชกาลที่ 1 บุกผ่านหนองคาย ผ่านมณฑลอุดร(หมากแข้ง) ไปจนถึงเมืองโคราช (จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน) จนเป็นเหตุให้เกิดวีรกรรมของคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) กองทัพไทยได้ส่งกอบกำลังออกติดตามโดยมีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพ ยกพลไปปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนั้นเมื่อมีเหตุสงครามเกิดขึ้นก็จะนำสิ่งของที่มีค่าไปซุกซ่อนไว้ตามภูเขาและตามถ้ำต่างๆ รวมทั้งพระ 3 องค์ คือ พระสุก พระเสริม และพระใส รวมตลอดถึงสิ่งของมีค่าต่างๆ ไปซ่อนไว้ที่ภูเขาควาย เมื่อมีเหตุการณ์ปราบกบฏเสร็จสิ้นลง กองทัพไทยจึงได้ไปติดตามนำเอาสิ่งของดังกล่าวมายังประเทศไทย จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม พระใส และพระบริวาร อีกทั้งหลายทั้งปวง ตลอดสิ่งของมีค่าประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ล่องลงมาตามลำน้ำงึม เพื่อออกสู่แม่น้ำโขงต่อไป

เมื่อมาถึงบริเวณปาน้ำงึมจะเข้าสู่แม่น้ำโขง ในปัจจุบันตรงกับบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์มีพายุใหญ่แรงกล้า ฟ้าฝนคะนองมากทำให้แพที่อัญเชิญพระสุกแยกแตกจากกัน เป็นเหตุให้พระสุกจมลงไปในน้ำโขง ณ บริเวณนั้น ยากแก่การที่จะรักษาองค์พระสุกไว้ได้ บริเวณดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “เวินพระสุก” มาจนถึงปัจจุบันนี้ ขณะเดียวกันแพก็ทวนน้ำขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยมีจุดหมายที่เมืองหนองคาย(บ้านไผ่) เมื่อมาบริเวณบ้านเวินในเขตอำเภอโพนพิสัย พระแท่นของหลวงพ่อพระสุกก็มีเหตุต้องให้จมลงในแม่น้ำโขงอีก บริเวณดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “เวินแท่น” ในปัจจุบัน คงเหลือแต่พระเสริม พระใส และพระบริวารทั้งหลายที่มาตามขบวนครั้งนั้น ได้ขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย (บ้านไผ่) ตรงบริเวณท่าน้ำวัดหอก่อง และได้อัญเชิญหลวงพ่อพระเสริม พระใส ตลอดจนพระบริวาร ขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดหอก่อง แต่ต่อมาได้เกิดเหตุขึ้นที่บริเวณลานวัดหอก่องหลายอย่าง (มีบางเว็ปไซต์ให้ข้อมูลว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหว มีรอยแยกที่ลานวัดหอก่อง) จนเป็นเหตุให้กรมการเมืองในครั้งนั้นได้ลงความเห็นว่า เป็นเพราะบริเวณวัดหอก่องไม่สมคู่ของบารมีพระศักดิ์สิทธิ์ โดยต้องแยกพระเสริมไปไว้ที่วัดโพธิ์ชัย (วัดผีผิว) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ไม่ห่างจากวัดหอก่องมากนัก

พ.ศ.2394 ขุนวรธานีกับเจ้าเหม็นข้าหลวงได้รับบัญชาให้นำพระเสริมซึ่งประดิษฐานอยู่วัดโพธิ์ชัยหรือวัดผีผิวนั้น ลงไปยังกรุงเทพมหานคร (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) และรู้ข่าวว่ามีหลวงพ่อพระใส ซึ่งอยู่วัดหอก่อง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับพระเสริมลงไปยังกรุงเทพมหานครด้วย เมื่อขบวนเกวียนมาถึงวัดโพธิ์ชัย ก็มีเหตุให้ไม่สามารถนำเกวียนซึ่งบรรทุกหลวงพ่อพระใสเคลื่อนที่ต่อไปได้ จนเกวียนต้องหักลง มีการเปลี่ยนเกวียนบรรทุกหลวงพ่อพระใสถึง 3 ครั้ง 3 ครา จนหลวงพ่อพระใสได้รับขนานนามว่า “หลวงพ่อเกวียนหัก” หลวงพ่อพระเสาร์จึงได้ประดิษฐานเหลืออยู่ภายในพระอุโบสถของวัดประดิษฐ์ธรรมคุณหรือวัดหอก่องแห่งนี้ พร้อมพระบริวารที่มาพร้อมขบวนในครั้งนั้น ตั้งแต่นั้นมา

อุโบสถวัดหอก่อง
ภายในอุโบสถวัดหอก่อง
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดหอก่อง

ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดหอก่องและพระเสาร์ ตลอดจนพระบริวารบางองค์ที่เป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่มีค่าควรต่อการกราบไหว้บูชาถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคายแห่งหนึ่ง

หลวงพ่อพระเสริม วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

ประวัติคุ้มหอก่อง (ชุมชนหอก่อง)

คุ้มวัดหอก่องมีประวัติความเป็นมาช้านานมาก สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน เป็นคุ้มที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง คาดว่าเกิดก่อนตั้งเมืองหนองคายก็ว่าได้ มีวัดที่สำคัญๆ ที่เป็นที่รู้จักกันในแถบนี้คือ วัดจอมมณี วัดมีชัย วัดพุมซวย(วัดหายโศก ในปัจจุบัน) วัดเมืองหนอง (วัดศรีเมือง) วัดป่าขาว (วัดศรีคุณเมือง) วัดหอก่อง (วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ) วัดธาตุ

วัดหอก่องนี้มีความสำคัญ คือ เป็นแหล่งชุมทางของเรือที่มักข้ามมาติดต่อค้าขายในสมัยโบราณกับประเทศลาว เช่น ท่าเดื่อ ถิ่นตม เชียงควน หนองแปน ท่าพระ สิมมะโน ซึ่งบ้านต่างๆ เหล่านี้อยู่ในประเทศลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มักจะมาจอดที่ท่าน้ำ วัดหอก่องเพื่อค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

ตามประวัติการบอกเล่าของ ฯพณฯ ท่านวงศ์พลนิกร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนปลัดกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวคุ้มหอก่อง ได้บอกว่า ที่บริเวณท่าน้ำวัดนี้ เป็นที่ชุมนุมหาปลาและเป็นจุดเริ่มต้นในการไหลอวนหาปลา ซึ่งภาษาอีสาน เรียกว่า “หัวก่องหรือหัวมอง” ลักษณะสำคัญของคุ้มหอก่องซึ่งไม่เหมือนกับคุ้มต่างๆ คือ พระอุโบสถหรือโบสถ์ ตามปกติสร้างหันหน้าทางทิศตะวันออกเสมอๆ แต่ที่แตกต่างคือ โบสถ์วัดหอก่องจะหันหน้าโบสถ์ลงไปในแม่น้ำ

จากประวัติและความเชื่อมโยง คนโบราณว่าการหันหน้าโบสถ์ลงไปทางแม่น้ำก็เพื่อจะรับพระพุทธรูปที่สำคัญ ๆ เช่น วัดพุทธโสธรวรมหาวิหาร หันลงสู่แม่น้ำบางประกง เพื่อรับพุทธโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม วัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และแม้แต่วัดหอก่องก็จะหันหน้าโบสถ์ลงไปยังแม่น้ำโขง เพื่อรับพระสำคัญๆ เช่น พระเสริม พระใส เมื่อครั้ง พ.ศ.2369 ขบวนแห่อัญเชิญพระดังกล่าวได้อัญเชิญพระจากถ้ำภูเขาควาย ประเทศลาว มาถึงบริเวณท่าน้ำวัดหอก่อง ขบวนแห่อัญเชิญพระจึงอัญเชิญพระขึ้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแห่งนี้ รวมทั้งพระเสาร์และตลอดจนถึงพระบริวารทั้งหมดไว้ในอุโบสถแห่งนี้ นับได้ว่าอุโบสถของวัดหอก่องแห่งนี้มีความสำคัญ และมีประวัติเป็นมาที่ช้านาน มีพระศักดิ์สิทธิ์มากมายเหลือค้างที่อุโบสถแห่งนี้ สมควรอย่างยิ่งที่ชาวหนองคายและอนุชนรุ่นหลังควรจะศึกษาประวัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวคุ้มหอก่องทุกท่าน ครั้งต่อมาในสมัยท่านเจ้าคุณรักษ์(พระธรรมไตรโลกาจารย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง ได้เปลี่ยนชื่อวัดหอก่องเป็นวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ ซี่งแปลว่าวัดที่ประดิษฐานแห่งคุณธรรม และมีธรรมะของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ จากนั้นมาทางกรมศิลปากรได้ประกาศและจดทะเบียนวัดหอก่อง พระเสาร์ และพระบริวารบางองค์ ตลอดจนพระอุโบสถแห่งนี้ เป็นปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคุณค่าต่อการเคารพกราบไหว้สักการะของชาวหนองคาย และใกล้เคียงสืบต่อไป

ไหว้สักการะพระเจ็ดรัชกาล พุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานหลวงพ่อพระเสาร์ ถิ่นเคยเนาว์พระเสริมพระใส อายุขัยพระอุโบสถกว่า 180 ปี ของดีคุ้มหอก่องเมืองหนองคาย

-ชุมชนหอก่อง-

ผู้เรียบเรียง สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์

ภาพโดย อีสานอินไซต์ และทิม บีเวอ (Tim Bewer)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *