พระเวสสันดรและทศชาติชาดก: ภาพแกะสลักไม้ ชั้น 7 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง

พระเวสสันดรและทศชาติชาดก: ภาพแกะสลักไม้ ชั้น 7 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง

จากภาพแกะสลักที่บานประตูและหน้าต่างที่ชั้น 7 ของพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ได้บอกเล่าเกี่ยวกับ 10 พระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า โดยมีช่างผู้รับเหมาหลักคือ นายช่างถาวร ก่อนแก้ว กับชาวภาคเหนือ 

*หมายเหตุ การเรียบเรียงลำดับของเรื่องเล่าพระเวสสันดร ในบทความนี้ เป็นไปเพื่อการใช้งานในสถานที่จริง ตามที่ช่างได้ติดตั้งบานหน้าต่างและบานประตู ซึ่งอาจจะมีการสลับกันไปไม่ตามลำดับของเรื่องเล่า ผู้เขียนจึงใส่ “หมายเลข” กำกับในหัวเรื่องนั้นๆ แทน 

ภาคภาษาอังกฤษ คลิ๊ก English version

ในพระไตรปิฏกนั้น พุทธชาดกถูกรวบรวมไว้ทั้งหมดมี 547 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องราวในพระชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้า สำหรับในไทยเรามักให้ความสำคัญใน 10 เรื่องสุดท้ายก่อนการตรัสรู้ หรือที่เราเรียกกันว่า “ทศชาติชาดก” ซึ่งจะเห็นได้บ่อยในภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถหรือศาลาการเปรียญในวัด โดยในแต่ละชาดกช่างก็มักนิยมวาดหรือแกะสลักบานประตูหน้าต่าง 1 ชาดก ให้จบใน 1 ห้องภาพ เลือกเอาเฉพาะตอนที่โดดเด่น และทำคล้ายๆ กันทุกวัดไป จะมีที่นิยมทำกันเป็นเล่าเรื่องยาวๆ หลายผนัง ก็คือเรื่อง พระเวสสันดร พระชาติท้ายสุดก่อนการประสูติและตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในพระชาติปัจจุบัน ซึ่งถือกันว่าเป็นการบำเพ็ญบุญที่สำคัญสุด และเรื่องพระเวสสันดรนี้เอง ช่างก็ได้แกะสลักอยู่บนบานประตูและหน้าต่างของชั้นนี้เป็นจำนวน 20 ภาพ โดยสลับไปกับบานประตู หน้าต่างที่แกะสลักชาดกอื่นๆ

ความสำคัญของเรื่องพุทธชาดกในแต่ละเรื่อง ต่างก็ได้ให้ข้อคิดด้านการบำเพ็ญบารมีที่โดดเด่นแตกต่างกันไปเป็น 10 ประการสำคัญ ที่พระพุทธเจ้าสั่งสมก่อนตรัสรู้ในพระชาติสุดท้าย ซึ่งในเรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้เอก ก็จะมีเนื้อหาด้าน “ทานบารมี” หรือ “การเป็นผู้ให้” ตาม “สัจจะ” ที่ได้ตั้งไว้ของพระเวสสันดร โดยเฉพาะการให้ทานทั้งที่เป็นของนอกกาย และสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตคือ ภรรยาและบุตร

สำหรับภาพแกะสลักในชั้นนี้เรื่องราวของพระเวสสันดร อาจจะไม่สมบูรณ์ทุกตอน สามารถดูได้เพิ่มเติมในภาพจิตรกรรมที่ ชั้น 3 และมีข้อสังเกตว่า พระเวสสันดรชาดก ในชั้นนี้ ไม่ได้เรียงลำดับเรื่องเล่า มีการสลับบานหน้าต่างกันอยู่โดยรอบพระมหาธาตุ โดยที่มีเรื่องทศชาติชาดกอื่นๆ แทรกสลับกันอยู่ร่วมด้วย

วิธีอ่านให้ง่าย แนะนำว่าอาจต้องไปเริ่มกำแพงด้านทิศเหนือ บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (เดินขึ้นบันไดมา ออกประตู ไปทางเดินด้านนอก และเดินเลี้ยวซ้ายไปจนสุดมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) และการดูภาพแกะสลักไปพร้อมกับคำอธิบายในบทความนี้ ให้เดินเวียนรอบพระมหาธาตุในทิศทวนเข็มนาฬิกา

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 1 พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่อง พระเวสสันดร แก่พระประยูรญาติ

ภายหลังจากแสดงปาฏิหาริย์ ให้เหล่าพระประยูรญาติคลายทิฐิมานะ ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งที่บังเกิดคือ ฝนโบกขรพรรษ ที่ทำให้เปียกเฉพาะคนที่อยากให้เปียก ถือเป็นเรื่องอัศจรรย์เรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสเล่าว่า ฝนโบกขรพรรษนี้ ใช่ว่าจะเคยตกท่ามกลางที่ประชุมในครั้งนี้เท่านั้น ในอดีตกาลก็เคยได้เกิดขึ้นท่ามกลางที่ประชุมของพระประยูรญาติมาก่อนแล้ว จึงทรงตรัสเล่าเรื่อง พระเวสสันดร

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 2 พระนางผุสดี ทูลลา พระอินทร์ ลงมาจุติบนโลกมนุษย์

พระนางผุสดีลาพระอินทร์ พระนางผุสดีเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้า เดิมเป็นพระมเหสีของพระอินทร์ เมื่อหมดบุญที่สวรรค์แล้วจึงลาพระอินทร์ เพื่อลงมาจุติยังโลกมนุษย์ พระนางได้ทูลขอพรพระอินทร์ 10 ประการ หนึ่งนั้นคือ ขอให้มีพระโอรสเป็นผู้เกื้อกูล ไม่ตระหนี่ มีความเที่ยงธรรม ได้รับการยอมรับนับถือ เป็นกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ เป็นต้น ต่อมาพระนางจึงได้กำเนิดเป็นธิดาของกษัตริย์และได้เป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัย กษัตริย์ผู้ครองราชย์โดยธรรม

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 3 พราหมณ์ต่างเมืองขอช้างมงคลกับพระเวสสันดร

เมื่อพระเวสสันดรเติบใหญ่ ก็ไม่เคยหยุดให้ทานและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อยู่เสมอ ถึงขนาดเมื่อบ้านเมืองอื่นเดือดร้อนเรื่องความแห้งแล้ง อยากได้ช้างคู่บ้านคู่เมืองไปเป็นสิริมงคล ท่านก็ประทานให้โดยปราศจากความลังเล

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 4 พระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหา และชาลี เสด็จออกจากเมือง

แต่การให้ช้างไปนี้ ก็ทำให้ชาวเมืองโกรธเป็นอย่างมากเพราะกลัวว่าตัวเองจะเกิดความแห้งแล้ง บ้านเมืองขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องการให้พระเจ้าสัญชัยลงโทษโดยการขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมือง ไปยังเขาวงกตที่อยู่ลึกเข้าไปในป่าหิมพานต์ ความโกรธของชาวเมืองที่แผ่ขยายออกไป ทำให้พระเจ้าสัญชัย ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องยินยอม พระเวสสันดรจึงออกเดินทางพร้อมกับพระนางมัทรี มีพระโอรสและพระธิดา คือ ชาลีและกัณหา ติดตามไปด้วย โดยพากันออกจากเมืองอาศัยม้าพันธุ์ดี 4 ตัว ลากเกวียน

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 17 ชูชกได้รับค่าไถ่ทาสจากพระเจ้าสัญชัย นั่งกินนอนกินอย่างไม่บันยะบันยัง

เป็นตอนที่เทวดาทำให้ชูชกเดินไปผิดทาง โดยไปเมืองของพระเจ้าสัญชัยแทน พระเจ้าสัญชัยทอดพระเนตรเห็นหลานทั้งสองก็ดีพระทัยมาก ขอไถ่ตัวออกจากการเป็นทาส ซึ่งจะต้องจ่ายทั้งเงินทอง รวมถึงปราสาทราชวัง ในภาพจะเห็นชูชกนั่งกินนอนกินในราชวังใหม่ของตนเอง

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 18 ชูกชกท้องแตกตาย

ชูชกกินมากเกินไป จนอาหารไม่ย่อย ในที่สุดก็ท้องแตกตาย

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 19 กษัตริย์ทั้งหกพบกัน

ชาลี ได้เล่าถึงความทุกข์ยากของพวกตนในการอยู่ในป่า พระเจ้าสัญชัยฟังแล้วก็รู้สึกสำนึกผิด พระเจ้าสัญชัยจึงออกเดินทางไปยังกระท่อมของพระเวสสันดรซึ่งอยู่ห่างไกล เมื่อทุกคนในครอบครัวได้มาเจอหน้ากันอีกครั้งก็ดีใจจนเป็นลมหมดสติไป พระอินทร์จึงส่งฝนโบกขรพรรษ เพื่อทำให้ทุกคนฟื้น

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 20 เสด็จกลับเมือง

พระเจ้าสัญชัยได้เชิญให้พระเวสสันดรกลับเข้าเมืองและครองบัลลังค์ ขบวนแห่พระเวสสันดรกลับเข้าเมืองได้มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีช้างมงคลเข้าร่วมขบวนด้วย (กษัตริย์เมืองอื่นที่ยืมช้างมงคลไปได้ส่งคืนหลังจากช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 5 ครอบครัวพระเวสสันดรเดินทางไปป่าหิมพานต์

ระหว่างการเดินทางของพระเวสสันดรออกจากเมือง ก็ได้มีผู้มาขอราชพาหนะและม้า และพระเวสสันดรก็ได้ให้ไปโดยไม่ลังเล ทำให้ต้องเดินเท้ากันไปป่าหิมพานต์แทน

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 6 ครอบครัวชูชก ชูชกจูงเอานางอมิตตดาไปเป็นเมีย

ยังมีเมืองอีกเมืองหนึ่ง เป็นที่อยู่อาศัยของ ชูชก พราหมณ์เฒ่า มีเมียสาวชื่อว่า นางอมิตตดา ผู้ซึ่งบิดามารดาให้มาเป็นเมียชูชก แทนเงินที่ชูชกได้เคยฝากไว้ แต่บิดามารดากลับนำมาใช้จนหมด แล้วไม่มีใช้คืน

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) ทศชาติชาดก เรื่อง พระเวสสันดรชาดก 

ครั้งหนึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรส พระนามว่า พระเวสสันดร พระเวสสันดรเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่ ชาวเมืองต่างอยู่ด้วยความเป็นสุข กระทั่งท่านได้พระราชทานช้างเผือกให้แก่เมืองอื่นที่แห้งแล้ง เพื่อให้ฝนตก ทำให้ประชาชนในเมืองของพระองค์โกรธมาก พระบิดาจึงจำเป็นต้องเนรเทศพระเวสสันดรและครอบครัว ให้ไปอยู่ในเขาวงกตที่รายล้อมด้วยป่าหิมพานต์ ต่อมาไม่นานพระเวสสันดร ก็ได้ให้ลูกและเมียแก่ผู้อื่นตามที่ได้ตั้งสัจจะบำเพ็ญทานไว้อีก แต่ท้ายที่สุดพระอินทร์ก็ได้ช่วยให้ครอบครัวกษัตริย์ทั้งหมดได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง เช่นเดียวกับช้างมงคลก็ได้กลับคืนสู่เมืองเพราะได้ช่วยเหลือให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาแล้ว และพระเวสสันดรก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อไป (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญทานบารมี)

 (ขวามือ) ทศชาติชาดก เรื่อง พระวิฑูรชาดก

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นที่ปรึกษาหรือนักปราชญ์ของพระราชา ชื่อ วิฑูรบัณฑิต จากการถกเถียงของกษัตริย์ทั้ง 4 องค์ คือ พระเจ้าธนัญชัยโกรพยราช พญาครุฑ พระยานาค ท้าวสักกะ ว่าใครมีศีลมากที่สุด ทำให้วิฑูรบัณฑิตต้องมาเป็นกรรมการตัดสิน และท่านก็สามารถตัดสินได้อย่างเท่าเทียมกัน ก็ทำให้ชื่อเสียงความเฉลียวฉลาดนั้นกระจายออกไป พระมเหสีของพญานาค เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ ก็อยากจะมีโอกาสได้ฟังธรรมบ้าง จึงบอกให้พญานาคนำหัวใจของพระวิฑูรมาให้ ซึ่งหัวใจในความหมายของนางก็คือ “ปัญญา” แต่พญานาคกลับคิดว่าเป็นหัวใจจริงๆ ต่อมาบุตรสาวของพญานาคได้ป่าวประกาศ ผู้ใดนำหัวใจพระวิฑูรมาให้พระมารดาได้ก็จะแต่งงานด้วย ยักษ์ที่ผ่านมาได้ยิน จึงรับอาสา และได้ตัวพระวิฑูร จากการเล่นสกาชนะพระเจ้าธนัญชัยฯ ขณะที่นำพระวิฑูรมายังเมืองนาค ยักษ์คิดจะฆ่าเสียเอาแต่เพียงหัวใจไป แต่พระวิฑูรก็แสดงธรรมจนรอดชีวิต และได้ไปแสดงธรรมยังเมืองบาดาลในที่สุด (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญสัจจะบารมี)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 9 นายพรานเงื้อหน้าไม้จะยิงชูชก 

เมื่อชูชกเข้าป่า ก็เผชิญหน้ากับฝูงหมาไล่กัดจนต้องปีนหนีขึ้นต้นไม้ นายพรานผู้ได้รับคำสั่งให้เฝ้าไม่ให้มีใครไปรบกวนพระเวสสันดรมองเห็นชูชก ก็จะฆ่าเขาเสีย แต่ด้วยไหวพริบ ชูชกโกหกว่ามีข้อความจากพระเจ้าสัญชัย เพื่อจะไปบอกแก่พระเวสสันดรว่าพระบิดายกโทษให้แล้ว ให้กลับบ้านกลับเมือง นายพรานป่าได้ยินก็ดีใจ รีบบอกทางให้ชูชกไปหาพระเวสสันดรโดยไว

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 10 อจุตฤษีบอกทางไปอาศรมของพระเวสสันดร 

ในป่าลึก ชูชกหยุดเพื่อถามทางกับอจุตฤษี โดยหลอกว่าจะเข้าไปคารวะเยี่ยมเยียนพระเวสสันดร ฤษีเชื่อจึงยอมบอกทางให้ชูชกไปยังอาศรมของพระเวสสันดร

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 11 กัณหาและชาลีหนีไปซ่อนในสระบัว

ชูชกหาพระเวสสันดรจนเจอ และเมื่อพระนางมัทรีออกไปป่าเพื่อไปหาผลหมากรากไม้ ชูชกจึงเข้าไปถามขอลูกกับพระเวสสันดร พระเวสสันดรจึงได้ตรัสประทานให้ เมื่อกัณหาและชาลีได้ยินดังนั้น จึงรีบหนีไปซ่อนใต้ใบบัวอยู่ในสระน้ำ แต่ในที่สุดพระเวสสันดรก็หาทั้งสองจนพบ และมอบทั้งคู่ให้แก่ชูชก

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 12 พระนางมัทรีกลับอาศรมไม่ทัน

ในขณะเดียวกัน เหล่าเทวดารู้ว่า พระนางมัทรีกำลังจะกลับไปที่อาศรม และถ้าได้เจอกับลูก ก็จะไม่ยอมให้ไป จึงแปลงเป็นสิงโต เสือดาว เสือดำ มานอนขวางทางกลับไว้ พระนางมัทรีเสด็จมาถึงก็กลัวจนไม่สามารถผ่านไปได้ กระทั่งใกล้มืด

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) ทศชาติชาดก เรื่อง พระนารท (อ่านว่า พระ-นา-ระ-ทะ)

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นพรหม ในคืนเดือนเพ็ญคืนหนึ่ง กษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าอังคติราช ผู้มีธรรม ได้ฟังธรรมจากชีเปลือย โดยชีเปลือยได้แสดงธรรมให้กษัตริย์เห็นว่า ทำผิดบาป ไม่มีผลกรรม ทำความดี ก็ไม่มีผลบุญ กษัตริย์ได้เห็นคล้อยตามและเริ่มใช้ชีวิตอย่างสำราญ ไม่ช่วยเหลือผู้ใด แม้ลูกสาวจะพยายามทำให้พระบิดาเปลี่ยนใจจากความเชื่อที่ผิดๆ แต่ก็ไร้ผล ในที่สุดพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพระพรหมในขณะนั้น ก็ได้เหาะลงมาจากสวรรค์ เพื่อแสดงธรรมให้กษัตริย์เห็นถึงบุญบาปและเดินในทางที่ถูกต้อง (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญอุเบกขาบารมี)

(ขวามือ) ทศชาติชาดก เรื่อง จันทกุมาร

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรส ครั้งหนึ่งพราหมณ์ตุลาการรับสินบนในการตัดสินความ ทำให้ราษฎรเดือดร้อน พระโพธิสัตว์จึงได้รับอำนาจให้เป็นผู้ตัดสินความแทน ทำให้พราหมณ์ตุลาการอาฆาตแค้นเพราะไม่สามารถรับเงินได้อีกต่อไป ต่อมาเมื่อมีโอกาสก็ได้ทูลกษัตริย์ที่สุบินเห็นสวรรค์แล้วอยากหาทางไปว่า ถ้าพระองค์อยากจะไปสวรรค์ต้องทำพิธีบูชายัญพระมเหสีและลูกๆ ด้วยใจจริงอยากกำจัดเพียงพระโพธิสัตว์แต่ก็กลัวจับได้ กษัตริย์กลับเห็นดีคล้อยตามเพราะอยากไปสวรรค์ แม้พระโพธิสัตว์ผู้เป็นบุตรที่โปรดปรานทูลทัดทานและขอให้เปลี่ยนใจในหลายครั้งก็ตาม ในที่สุดพระโพธิสัตว์จะถูกประหารเป็นคนแรก พระมเหสีได้วิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระอินทร์จึงลงมาจากสวรรค์เพื่อช่วยเหลือ ทุกคนจึงปลอดภัยในที่สุด และต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญขันติบารมี)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นพญานาค ผู้กำเนิดจากมารดาที่เป็นมนุษย์และบิดาผู้เป็นกษัตริย์เมืองนาค เป็นผู้รักษาศีลอยู่บนโลกมนุษย์เพราะต้องการไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ จากการตั้งสัจจะอยู่ในศีลแม้จะโดนพราหมณ์ทรมานและจับเอาไปแสดง ก็พยายามไม่โกรธไม่ทำอันตรายใคร จนกระทั่งพี่ชายปลอมตัวเป็นฤษีมาช่วยไว้ได้ (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญศีลบารมี)

(ขวามือ) ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถ

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นนักปราชญ์ของพระเจ้าวิเทหราช ชื่อว่า มโหสถ เป็นผู้เฉลียวฉลาดตั้งแต่ยังเด็ก อายุ 7 ขวบก็ได้เข้าวัง และสามารถทำงานตัดสินแก้ไขปัญหายากๆ ได้สำเร็จหลายอย่าง เอาชนะนักปราชญ์ทั้ง 4 คนของพระเจ้าวิเทหราชอยู่เสมอ เป็นผลให้นักปราชญ์เกิดความริษยา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรมโหสถได้ ครั้งหนึ่งกษัตริย์เมืองหนึ่ง คือ พระเจ้าจุลนี ต้องการขยายพระราชอำนาจครอบครองเหนืออินเดียทั้งหมด แต่มโหสถก็ใช้ปัญญาเอาชนะได้ทุกครั้ง ต่อมาพระเจ้าจุลนีออกอุบายจะยกลูกสาวสวยให้เป็นมเหสีของพระเจ้าวิเทหราช มโหสถเห็นว่าเป็นอุบายเพื่อจะหาทางฆ่าพระเจ้าวิเทหราช ก็ได้ทัดทานห้ามไว้ แต่พระเจ้าวิเทหราชก็หาเชื่อไม่ด้วยเหตุเพราะอยากได้นาง แต่ในที่สุดมโหสถก็พาเอาตัวรอดจากศึกได้อีก โดยการสร้างอุโมงค์ใต้ดินที่มีกลไกต่างๆ สุดท้ายสองกษัตริย์ต่างสำนึกในการกระทำของตนเองและนับถือมโหสถ ภายหลังตราบเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตแล้ว มโหสถจึงมารับราชการในสำนักของพระเจ้าจุลนีตามที่พระยาจุลนีได้ขอไว้ (เรื่องนี้กล่าวถึง การบำเพ็ญปัญญาบารมี)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 13 พระนางมัทรีถามหาบุตรกับพระเวสสันดร

เมื่อพระนางมัทรีกลับถึงอาศรมแล้ว และหาลูกไม่พบ พระองค์เกรงว่าลูกทั้งสองได้ตายไปแล้ว อีกทั้งพระเวสสันดรก็ทรงเงียบไม่ได้กล่าวอะไร พระนางกังวลมากเที่ยวตามหารอบอาศรมท่ามกลางแสงสว่างของจันทร์เดือนเพ็ญ แต่ก็หาพบทั้งสองไม่

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 14 พระนางมัทรีอนุโมทนาทานบารมีของพระเวสสันดร 

ภายหลังพระเวสสันดรจึงได้บอกกล่าวกับพระนางมัทรี พระนางมัทรีโศกเศร้าเสียใจมาก แต่เมื่อตั้งสติได้ก็เข้าใจและกล่าวสาธุการในการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) ทศชาติชาดก เรื่อง พระเนมิราช

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ คือ พระเนมิราช ได้เป็นพระราชาผู้ทรงธรรมและมีกุศลทานแก่ชาวเมืองทั้งปวง เกิดพระดำริขึ้นว่า ทานหรือพรหมจรรย์ (พรหมจรรย์ หมายถึง ปรมัตถ์ หรือการถือพรต บางอย่างเช่น เว้นเมถุน) อย่างไหนมีผลมาก พระอินทร์เมื่อทรงทราบก็ได้ปรากฏตัวต่อหน้าพระพักตร์ จึงตรัสบอกว่า บุคคลย่อมบังเกิดในขัตติยสกุลเพราะพรหมจรรย์อย่างเลว บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นเทวดาเพราะพรหมจรรย์ปานกลาง บุคคลย่อมบริสุทธิ์เพราะพรหมจรรย์อย่างสูงสุด เหล่าพรหมจะสำเร็จด้วยการวิงวอนย่อมหาไม่ บุคคลต้องเป็นผู้ไม่มีเรือนบำเพ็ญธรรม จึงจะบังเกิดในหมู่พรหม ต่อมามาตลีเทพสารถีได้นำท่านขึ้นรถทิพย์(ราชยาน) ไปยังสถานที่อยู่ของทวยเทพผู้มีกรรมอันงาม และได้เห็นสถานที่อยู่ของสัตว์นรกผู้มีกรรม ครั้นเมื่อถึงสวรรค์เหล่าเทพได้เชื้อเชิญให้ท่านอยู่ แต่ด้วยสิ่งที่ได้มาโดยผู้อื่นให้ เปรียบดั่งยวดยานหรือทรัพย์ที่ยืมมา พระองค์จึงไม่ปรารถนาสิ่งนั้น บุญทั้งหลายที่ได้ทำเอง ย่อมติดตามตัวไปด้วย ดังนั้นเมื่อพระองค์กลับมา ทรงบริจาคทานเช่นเดียวกับการเข้าถึงความเป็นผู้สำรวมในศีล เมื่อถึงกาลสมควรที่ผมหงอกขึ้นแล้ว เสมือนเทวทูตปรากฏ จึงเป็นกาลสมควรที่ออกบวช (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญอธิษฐานบารมี)

(ขวามือ) ทศชาติชาดก เรื่อง สุวรรณสาม

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นลูกของฤษี 2 ตน ชื่อ สุวรรณสาม ด้วยคราวหนึ่งพระอินทร์ทราบว่าคู่ผัวเมียที่ออกบวชบำเพ็ญตบะ ต่อไปในภายภาคหน้าจะตาบอด จึงทำให้ทั้งสองได้มีบุตรชาย เมื่อทั้งสองตาบอดก็ได้สุวรรณสามช่วยเหลือและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ต่อมาสุวรรณสามได้ถูกกษัตริย์เมืองหนึ่งยิงลูกดอกอาบยาพิษใส่ด้วยนึกว่าเป็นสัตว์ สุวรรณสามเมื่อรู้ว่ากำลังจะตาย จึงขอให้กษัตริย์ไปบอกบิดามารดา เมื่อทั้งสองมาถึงก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน สุวรรณสามจึงฟื้นคืนชีพขึ้นมา (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญเมตตาบารมี)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) ทศชาติชาดก เรื่อง ชนก

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรส ชื่อว่า พระมหาชนก ภายหลังจากกษัตริย์ผู้เป็นพระบิดาได้สวรรคตลงในสงครามเครือญาติ พระมารดาของพระองค์จึงได้คลอดและเลี้ยงดูอย่างปลอดภัยในเมืองอื่น เมื่อพระมหาชนกโตขึ้นก็จะไปชิงเมืองกลับคืน แต่ระหว่างทางนั้นเรือกลับอับปางลง เป็นเหตุให้ต้องว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรไปยังอีกฝั่งแผ่นดิน และด้วยความวิริยะอุตสาหะของพระมหาชนกที่ว่ายข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลายวันด้วยกัน ก็ทำให้นางเมขลาเข้ามาช่วยอุ้มขึ้นจากน้ำไปส่งยังแผ่นดินเดิมของพระบิดา และก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์ ในเวลาต่อมาพระมหาชนกได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ต้นมะม่วงต้นหนึ่งให้ผลกับอีกต้นที่ไร้ผล ซึ่งต้นที่มีผลให้รสชาติหอมหวานได้ถูกราษฎรโค่นทำลายลงเพื่อเก็บกินผลมะม่วง แต่อีกต้นที่ไร้ผลกลับสามารถยืนต้นอยู่ได้ จึงเกิดความสลดสังเวชใจ มองเห็นสัจธรรม และออกบวชในเวลาต่อมา (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญความเพียรหรือวิริยะบารมี)

(ขวามือ) ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์

ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระราชโอรส นามว่า พระเตมีย์ เมื่อคราวพระเตมีย์อายุได้เพียง 1 เดือน ก็เห็นพระบิดาต้องออกว่าความและตัดสินโทษแก่ผู้อื่น ทำให้พระเตมีย์ไม่อยากโตขึ้นเป็นกษัตริย์ เพราะระลึกชาติได้ว่าเคยตกนรกจากเหตุนี้มาแล้วหนหนึ่ง จึงแกล้งเป็นใบ้ หูหนวก แม้พระบิดามารดาจะพยายามหลอกล่อให้โต้ตอบก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด จนกระทั่งพระเตมีย์อายุได้ 16 ชันษา นักปราชญ์ของกษัตริย์จึงทำนายว่าพระเตมีย์เป็นกาลกินี ต้องนำตัวออกไปจากเมืองไปฝังเสีย เมื่อพระเตมีย์ออกจากเมืองและออกจากราชสกุลได้แล้ว เป็นทั้งผู้ไม่มีบ้านไม่มีสมบัติ จึงสำแดงฤทธิ์เดชยกเกวียนเพื่อแสดงให้นายสารถีได้เห็นพละกำลัง และออกบวชอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อนายสารถีเห็นดังนั้นจึงรีบกลับไปเมือง เพื่อตามพระราชบิดาและพระราชมารดาของพระเตมีย์ แม้ทั้งสองอ้อนวอนให้กลับมาครองราชย์ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระเตมีย์ได้ และในที่สุดเมื่อทั้งสองได้ฟังธรรมแล้วก็ได้ออกบวชเช่นกัน (เรื่องนี้ได้กล่าวถึง การบำเพ็ญเนกขัมมบารมี)

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 15 พระอินทร์ทูลขอพระนางมัทรี

พระอินทร์ทรงเล็งเห็นว่า พระนางมัทรี จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่พระเวสสันดรจะพระราชทานให้แก่ใครซักคนหนึ่งที่จะมาขอ จะเป็นเหตุให้พระเวสสันดรต้องอยู่เพียงผู้เดียวและไม่มีผู้คอยเฝ้าปรนนิบัติ พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์และเข้าไปถามขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรจึงพระราชทานให้ พระอินทร์ทรงรับ ก่อนพระราชทานพระนางมัทรีคืนให้แก่พระเวสสันดร

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 16 เทวดาแปลงกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีมาดูแลยามค่ำคืน 

ระหว่างที่ชูชกเดินกลับบ้าน เมื่อใกล้เวลาหลับนอน เขาก็ผูกเด็กเอาไว้กับต้นไม้เพื่อไม่ให้หนี ส่วนตัวเองก็ปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้เพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ป่า เมื่อชูชกหลับแล้ว เทวดาสององค์จึงแปลงเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทำการปลดแก้เชือกเด็กทั้งสองออก และดูแลกัณหาและชาลีจนหลับไป

 

พระพุทธเจ้า พระเวสสันดร ทศชาติชาดก วัดหนองแวง พระมหาธาตุแก่นนคร ขอนแก่น ชั้น 7

(ซ้ายมือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 7 นางอมิตตดา ถูกภรรยาพราหมณ์ต่อว่า

นางอมิตตดาผู้ดูแลชูชกเป็นอย่างดี แต่การที่นางมีความจงรักภักดีต่อสามี ทำให้พราหมณ์ที่มีภรรยาต่างก็เปรียบเทียบว่าภรรยาตนเองไม่ดีเท่านางอมิตตดา ทำให้เหล่าภรรยาพราหมณ์โกรธแค้นนางเป็นอย่างมาก อยากให้นางออกจากเมือง แล้วกลับบ้านไป

(ขวามือ) พระเวสสันดรชาดก ภาพที่ 8 ชูชกลากจูงกัณหาและชาลีไปเป็นทาส

นางอมิตตดาบอกให้ชูชกไปหาทาสมาช่วยนางทำงาน มิเช่นนั้นนางจะหนีไป ชูชกไม่มีเงินพอที่หาทาสให้นางได้ นางเลยแนะนำว่าให้ไปป่าหิมพานต์ และไปขอลูกของพระเวสสันดรมาเป็นทาส

** ภาพที่ 8 อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างภาพที่ 11-16 เข้าใจว่าช่างอาจต้องการติดภาพชูชกนี้ไว้บานเดียวกับนางอมิตตดา ภรรยาของชูชก

จบเนื้อความโดยสังเขปของภาพแกะสลักบานประตูและหน้าต่างของชั้น 7 เพียงเท่านี้.

 

ติดตามข้อมูลอื่นๆ ของพระมหาธาตุแก่นนครแต่ละชั้นได้ ที่หัวข้อ วัดหนองแวง พระอารามหลวง

______

บทความภาคภาษาอังกฤษ โดย ทิม บีเวอ

บทความภาคภาษาไทยและบรรณาธิการ โดย สุทธวรรณ บีเวอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *