จิตรกรรมฝาผนังชั้น 1 วัดหนองแวงพระอารามหลวง: ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น ศาสนสถานโบราณ และวิถีวัฒนธรรม

จิตรกรรมฝาผนังชั้น 1 วัดหนองแวงพระอารามหลวง: ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น ศาสนสถานโบราณ และวิถีวัฒนธรรม

จากจินตนาการเรื่องราวในอดีตของเมืองขอนแก่น ผสานเข้ากับสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิตของผู้คน ขนบธรรมเนียมและประเพณี ภูมิความรู้ในการหาอยู่หากินการดำรงชีพแบบดั้งเดิมของชาวอีสานโดยละเอียด ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าใจในบริบทของสังคมในยุคต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ชั้น 1 อันทรงคุณค่าทั้งหมดกว่า 52 ภาพ (รวมภาพ ศาสนสถานโบราณและวัฒนธรรมประเพณี) เสร็จสิ้นโดยใช้เวลาวาดประมาณ 3-4 ปี โดยเริ่มวาดในปี พ.ศ.2543

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ที่ “ชั้น 1” ของพระมหาธาตุแก่นนครของวัดหนองแวงพระอารามหลวง ได้แสดงให้เห็นถึง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองขอนแก่นและวิถีชีวิตของชาวบ้านขอนแก่น โดย หลวงปู่คูณ เจ้าอาวาสวัดหนองแวงฯ เป็นผู้ดำริให้จัดทำขึ้น และได้ให้ ครูธรรมรงค์ แก้วโบราณ ศิลปินชาวอีสานพื้นเพขอนแก่น เป็นผู้วาดภาพจิตรกรรมฯ

บทความนี้ ได้อาศัยการอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือของพระเทพวงศาจารย์ (คูณ ขันติโก ป.ธ.4) ชื่อ “ประวัติเมืองขอนแก่น ของดีเมืองขอนแก่น วิถีชาวบ้าน ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ที่มีการอธิบายภาพแต่ละภาพและเคยมีจำหน่ายในวัดเมื่อนานมาแล้ว ปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการตีพิมพ์เพิ่มอีก และหนังสือ “พิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูสารกิจประสุต” และประวัติศาสตร์เมืองจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น” ของ ครูประมวล พิมพ์เสน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ได้จากการสัมภาษณ์ครูธรรมรงค์ เพิ่มเติมในส่วนของการเขียนภาพเล่าเรื่อง ซึ่งทั้งหมดได้มีคุณูปการต่อการจัดทำบทความนี้ เพื่อการเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปและผู้ที่มาท่องเที่ยวในพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวงแห่งนี้  Click here for English.

ภาพวาดภาพแรก เริ่มเหนือกรอบประตูห้องเก็บของ ฝั่งที่นั่งสงฆ์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้

ประวัติ “เมืองขอนแก่น”

จิตรกรรมฝาผนัง 21 ภาพ ได้แสดงถึง ที่มาของเมืองขอนแก่น โดยมีการหยิบยกเฉพาะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญบางเหตุการณ์ และเพื่อความสะดวกต่อการเดินชมภาพจิตรกรรม บทความนี้จึงได้ทำการอธิบายโดยสังเขปเฉพาะเหตุการณ์ที่ปรากฏว่ามีในภาพวาดเท่านั้น

ภาพต้นเรื่อง บ้านชีโหล่นยุคปัจจุบัน

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

บรรยากาศของบ้านชีโหล่น อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ช่วงเวลาเดียวกับการเปิดปฐมฤกษ์ไหว้พระมหาธาตุแก่นนครอนุสรณ์สาธุชน ในปี พ.ศ.2542 ภาพขบวนแห่ที่ปรากฏอยู่คือ งานบุญผะเหวด ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นชื่อในเรื่องของการเฉลิมฉลองงานบุญนี้อย่างยิ่งใหญ่

ภาพ 1 ภูมิประเทศของบ้านชีโหล่นในอดีต

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2321 ท้าวพัน (เพียเมืองแพน) พร้อมกับสมัครพรรคพวกประมาณ 330 คน ได้อพยพจากเมืองทุละคม ทางทิศเหนือของแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว มาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิในไทย บริเวณนี้ปัจจุบัน คือ บ้านชีโหล่น จังหวัดร้อยเอ็ด

ภาพ 2 กองคาราวานเกวียนเดินทางออกจากเมืองสุวรรณภูมิ

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2332 คณะเดินทางของเพียเมืองแพนได้ออกจากเมืองสุวรรณภูมิเรียบแม่น้ำมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก

ภาพ 3 กองคาราวานเกวียนเดินทางผ่านภูมิประเทศที่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

นางคำแว่นบุตรสาวของเพียเมืองแพนได้เป็นสนมของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นผู้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 1 ให้เพียเมืองแพนพาสมัครพรรคพวกแยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิเพื่อหาที่ตั้งเมืองใหม่ ดังนั้นเพียเมืองแพนจึงมั่นใจว่าจะได้รับพระบรมราชานุญาตในการจัดตั้งเมืองใหม่อย่างแน่นอน จึงออกเดินทางสำรวจไปตามเส้นทางเมืองชลบถ(เมืองชนบท ขอนแก่นปัจจุบัน) เนื่องด้วยทราบว่า “กวนเมืองแสน” (ท้าวคำพาว) ได้เป็นเจ้าเมืองชลบถในขณะนั้น

ภาพ 4 บรรยากาศการพักแรมระหว่างการเดินทาง

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

การตั้งเมืองในธรรมเนียมช่วงรัชกาลที่ 1 จะต้องมีจำนวนพลเมืองมากพอ  ต้องเดินทางไปมาหาสู่กันนอนทางสามคืน จึงสามารถตั้งบ้านเมืองใหม่บริเวณนั้นได้ เนื่องจากสภาพการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากและต้องเดินทางหลายวัน จึงต้องมีจุดพักแรมระหว่างทาง เพื่อซ่อมเกวียน จัดเตรียมเสบียงอาหารและน้ำให้เพียงพอแก่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงพวกวัวควายที่นำมาด้วย ดังนั้นการเลือกสถานที่ค้างแรมจะต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำสะอาดสามารถดื่มกินได้เป็นสำคัญ

 ภาพ 5 เดินทางมาถึงที่บึงบอน

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

แม้ว่าการมองหาที่ตั้งถิ่นฐานใหม่จะมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ในที่สุดเพียเมืองแพนก็ได้มาถึง “บึงบอน” (หรือบึงแก่นนครในปัจจุบัน) ด้านทิศตะวันตก ด้วยมองเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินน้ำพืชพรรณธรรมชาติอันเหมาะแก่การสร้างบ้านเมืองใหม่  และได้ตั้งชื่อว่า “บ้านบึงบอน” (ขอนแก่น เป็นชื่อที่ตั้งในภายหลัง) ภายใต้การดูแลของเมืองนครราชสีมา หรือ มณฑลนครราชสีมาในเวลาต่อมา

ภาพ 6 ม้าเร็วส่งสารไปแจ้งมณฑลนครราชสีมา เพื่อขอตั้งเมือง

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ใน ปี พ.ศ.2339 บ้านบึงบอนส่งส่วยเมืองนครราชสีมา จนครบ 9 ปี จึงได้ส่งใบบอก(หนังสือแจ้งข้อราชการ) มายังมณฑลนครราชสีมาเพื่อส่งเข้ากรุงเทพฯ

 ภาพ 7 อ่านคำประกาศตั้งบ้านเมืองอย่างเป็นทางการ

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปลายปี พ.ศ.2339 เพื่อที่จะปลุกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่เกิดพระสุบินและทรงละเมอหนัก นางคำแว่นเป็นผู้เดียวที่กล้าใช้กลวิธีแก้ไขแบบชาวอีสาน คือ กัดปลายนิ้วเท้า เพื่อให้ทรงตื่นจากพระบรรทม จึงเป็นที่โปรดปรานและทรงโปรดให้นางคำแว่นเป็นเจ้าจอมพระสนมเอก ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในราชสำนักตามเอกสารประวัติศาสตร์ เจ้าจอมคำแว่นเป็นคนที่ปากกล้าแต่ใจดี จนได้รับฉายาว่า “คุณเสือ” หลังจากนั้นไม่นาน ต้นปี พ.ศ.2340 หนังสือโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมืองขอนแก่นอย่างเป็นทางก็ได้เดินทางมาถึงบ้านบึงบอน

ภาพ 8 พิธีมงคลฉลองเมืองใหม่

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

เอกสารราชการได้แต่งตั้งให้เพียเมืองแพนเป็น พระนครศรีบริรักษ์(เพียเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่นอย่างเป็นทางการ แต่เพียเมืองแพนได้ถึงแก่อนิจกรรมก่อน จึงได้แต่งตั้งให้ ท้าวคำบ้ง บุตรเขย เป็น พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) เจ้าเมืองขอนแก่นคนที่สอง ในภาพเป็นพิธีเฉลิมฉลองเมือง โดยมีการทำบุญและพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าเมืองใหม่

ภาพ 9 ย้ายเมืองขอนแก่น ครั้งแรก

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2352 เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งเขตแดนเมืองกับเจ้าเมืองชลบท เมืองขอนแก่นจึงย้ายไปอยู่บ้านดอนพันชาด  ปัจจุบันคือ บ้านโนนเมือง อ.โกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ภาพ 10 การย้ายเมืองครั้งที่ 2

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2381 เมืองขอนแก่นย้ายกลับมายังบึงแก่นนครเช่นเดิม ครั้งนี้มาสร้างเมืองอยู่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือพื้นที่บ้านโนนทันในปัจจุบัน

ภาพ 11 บ้านดอนบม

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2411 เมืองขอนแก่นแยกออกเป็นสองฝ่าย โดยท้าวอู๋ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นราชบุตรย้ายไปอยู่ที่บ้านดอนบมริมฝั่งแม่น้ำชีหรือประมาณ 5 กิโลเมตรทางทิศใต้ของบ้านโนนทัน ต่อมาในสงครามปราบฮ่อ ปี พ.ศ.2418 กองทัพหัวเมืองทางอีสาน รวมทั้งเมืองขอนแก่นและบ้านดอนบมไปช่วยปราบจีนฮ่อที่รุกรานลาวซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในขณะนั้น กองทัพท้าวอู๋ตีฮ่อแตกพ่าย ท้าวอู่จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระนครศรีบริรักษ์ ในปี พ.ศ.2420 และยกบ้านดอนบมเป็นเมืองขอนแก่น เมืองขอนแก่นจึงถูกแบ่งเป็น 2 เมือง คือ บ้านโนนทัน ซึ่งเป็นเมืองเดิม และบ้านดอนบม เมืองใหม่ หรือ เมืองขอนแก่น 2 ต่างขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ จากภาพที่หมู่บ้านมีการปั้นหม้อเพื่อใช้งานและหาบขายเป็นสินค้า เพราะตั้งบ้านใกล้ลำน้ำชี มีชาวบ้านที่พูดสำเนียงโคราชชำนาญการปั้นหม้ออยู่ร่วมกัน (ครูธรรมรงค์-สัมภาษณ์)

จากหนังสือ Isan Travels: Northeast Thailand’s Economy in 1883-1884 ของ Étienne Aymonier ได้อธิบายถึงสภาพเมืองขอนแก่นในปี พ.ศ.2426 ว่ามีบ้านเรือนผู้คนอยู่ประมาณ 200 หลัง และมีบึงใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง(คาดว่าคือบึงแก่นนครในปัจจุบัน) ซึ่งแตกต่างจากไทม์ไลน์ของการย้ายเมืองขอนแก่นมาทางบ้านโนนทันและบ้านดอนบม และอาจเป็นไปได้ว่าย้ายเมืองเฉพาะที่ทำการ ยังเหลือลูกบ้านอยู่ที่เดิมไม่ได้ไปด้วยทั้งหมด อย่างที่บางท่านได้เคยมีการสันนิษฐานเอาไว้

ภาพ 12 ทำพิธีมงคลช้างเผือกเพื่อนำทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัว

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ท้าวอู๋ได้รับช้างเผือกมาจากกาฬสินธุ์โดยญาติของภรรยาเป็นผู้มอบให้ และได้นำช้างเผือกทูลเกล้าถวายในหลวงเมื่อปี พ.ศ.2443 ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้ท้าวอู๋ เป็น พระยาศรีบริรักษ์บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร(อู๋) ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น

ภาพ 13 บ้านทุ่ม

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2424 เมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิมย้ายไปอยู่บริเวณที่ปัจจุบันเรียก บ้านทุ่ม ห่างจากบึงแก่นนครไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 กิโลเมตร และอีก 10 ปีถัดมา (ปี พ.ศ.2434) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงให้ฝ่ายเมืองใหม่ที่บ้านดอนบมย้ายไปอยู่บ้านทุ่มด้วย โดยเหตุผลว่ามีสายโทรเลขผ่าน (ในภาพจะสังเกตเห็นช้างพาหนะของราชการเดินทางผ่านเส้นทางนี้) เมืองขอนแก่นจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ต่อมาบ้านทุ่มเกิดภัยแล้ง จนต้องย้ายเมือง

ภาพ 14 กลับสู่บึงแก่นนคร

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ปี พ.ศ.2442 เมืองขอนแก่น ย้ายมาอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของบึงแก่นนคร ปัจจุบันคือ เมืองเก่า ในภาพจะมีวัดเหนือ(น้ำ) คือ วัดหนองแวง ด้านหน้าสุด ต่อมาเป็น วัดกลาง  และวัดใต้ คือ วัดธาตุ บริเวณหนองน้ำด้านหน้าวัดมีดอนขนาดเล็กเป็นเกาะแก่ง ชาวบ้านสัญจรไปมาสองฝั่งด้วยเรือ อันเป็นสภาพเดิมของบึงแก่นนคร

ภาพ 15 ศาลากลางหลังแรกของเมืองขอนแก่น

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ประมาณปี พ.ศ.2450 เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมบริเวณริมบึงแก่นนครเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้สร้างศาลากลางขึ้นที่บ้านพระลับ หรือบริเวณตลาดบางลำพูในปัจจุบัน ภายหลังได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของเมืองขอนแก่น ศาลากลางจังหวัดหลังแรกจึงตั้งอยู่ที่นี่

ภาพ 16 ตลาดกกแคอ่าว

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ในเวลานั้นเมืองขอนแก่นพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่และร้านขายสินค้ามากมาย ชาวบ้านขนงานหัตถกรรมและสินค้าอื่นๆเข้ามาขายโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ

ภาพ 17 สิม(อุโบสถ) และศาลาการเปรียญหลังเก่าที่วัดบึงบอน หรือ วัดหนองแวง

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

วัดหนองแวงสร้างขึ้นในสมัยท้าวเพียเมืองแพน ในวัดมีสิมที่สร้างจากดินเหนียวขยำแกลบและฟาง หลังคามุงด้วยแป้น (กระดาน) มีขนาดกว้างเพียง 4 คูณ 6 เมตร มีศาลาการเปรียญ และกุฏิไม้ ก่อนปี พ.ศ.2490 วัดหนองแวงเคยมีเนื้อที่เพียง 7 ไร่ 1 งาน 41 ตารางวา ปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 30 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา จากภาพเด็กๆ มักชอบเข้ามาเล่นในบริเวณวัด

 ภาพ 18 สถานีรถไฟเมืองขอนแก่น

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

สถานีรถไฟขอนแก่นเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2476 ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของเมืองกระเตื้องขึ้นอย่างมาก

ภาพ 19 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังที่สอง

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ.2491 จึงได้สร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นมาแทนเมื่อปี พ.ศ.2492 เมื่อก่อนสำนักงานเทศบาลเคยอยู่บริเวณชั้นแรกและสำนักงานศาลากลางอยู่ชั้นสอง อาคารหลังนี้เคยเป็นที่ประทับแรมของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสจังหวัดขอนแก่นในปี พ.ศ.2498 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2526 อาคารนี้ได้ถูกรื้อถอนและสร้างเป็นตลาดบางลำภู

 ภาพ 20 จวนผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

จวนผู้ว่าราชการหลังเก่า ต่อมาได้กลายเป็นอาคารใช้งานของโรงเรียนสนามบิน ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว

ศาสนสถานโบราณที่โดดเด่น

ภาพ 21 ปราสาทเปือยน้อย

ปราสาทเปือยน้อยถือเป็นปราสาทหินที่ใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดขอนแก่น อยู่ที่อำเภอเปือยน้อย  ตัวปราสาทประกอบด้วยปราสาทประธาน 3 หลัง ทำจากอิฐและหินทราย มีภาพแกะสลักหน้าบันอยู่หลายภาพด้วยกัน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12

ภาพ 22 กู่ประภาชัย

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ปราสาทหินขนาดเล็กหลังนี้เคยเป็นพุทธศาสนสถานประจำโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นทั่วราชอาณาจักรเขมรในช่วงยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 สระบารายขนาดเล็กด้านหน้ากู่จะมีน้ำใสอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีพิธีกรรมที่สำคัญจังหวัดขอนแก่นจะประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่ออัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปเข้าร่วมพิธีกรรม เช่น เมื่อครั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ เป็นต้น

ภาพ 23 พระธาตุขามแก่น

พระธาตุขามแก่นคือพุทธศาสนสถานที่ชาวขอนแก่นได้ให้ความเคารพและความศรัทธาอย่างสูงสุดต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุโบราณแห่งนี้ พระธาตุขามแก่นตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง มีลักษณะเป็นพระสถูปที่ได้รับการบูรณะเป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมตามอย่างศิลปะล้านช้าง-อีสาน ตามตำนานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่สามารถนำไปเข้าร่วมบรรจุขณะสร้างพระธาตุพนมได้ทัน เมื่อคณะเดินทางกลับได้มาพักในบริเวณเดิมก็ได้เห็นตอไม้มะขามที่เคยวางพระบรมสารีริกธาตุกลับมียอดขึ้นใหม่ เมื่อเห็นเป็นอัศจรรย์ดังนั้นจึงได้สร้างพระสถูปครอบและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระสถูปแห่งนี้ ด้านหลังพระสถูปมีสิมอีสาน(โบสถ์)เก่าแก่ และมีความงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน สร้างในพุทธศตวรรษที่ 24-25

วิถีวัฒนธรรม

ภาพ 24 ดินแดนแห่งเสียงแคน

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

หลายคนรู้จักเมืองขอนแก่นในนามดินแดนแห่งเสียงแคน  แคน คือ เครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ โดยต้องใช้มือทั้งสองข้างในการเล่น เสียงแคนมีความไพเราะ เร้าใจ จึงทำให้แทบทุกเทศกาลของชาวอีสานต้องมีแคนเป็นเครื่องดนตรีหลักประกอบกิจกรรมต่างๆ ในภาพที่เราเห็น อดีตในยามพลบค่ำ ผู้เฒ่าผู้แก่จะนำเด็กๆ ในหมู่บ้านมารวมกันเพื่อสอนสั่งให้เป็นคนดีมีศีลธรรม มีการใช้เสียงแคนสร้างความครึกครื้นตื่นเต้นเร้าใจ ความสนุกสนานในกิจกรรมดังกล่าวจึงกลายเป็นสาระแห่งคุณธรรมที่เด็กๆ สามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย

ภาพ 25 ประเพณีลงข่วงและประเพณีลงแขก

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ในอดีตชาวบ้านทำกิจกรรมการลงข่วง (การรวมตัวกัน ณ ลานหมู่บ้าน) ในช่วงเวลากลางคืน โดยแต่ละคนจะนำเอางานประจำวันของตนมาทำด้วยกัน เช่น เข็นฝ้าย พร้อมกับการพบปะสังสรรค์และรับประทานอาหารร่วมกัน อาจจะมีการร้องรำทำเพลงและพูดคำกลอนผญาอีสาน การลงข่วงยังถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่หนุ่มสาวจะได้พูดจาหยอกเย้าเกี้ยวพาราศรีกันด้วย มีการก่อกองไฟเพื่อให้แสงสว่าง สำหรับไม้ที่ใช้ก่อกองไฟจะใช้ไม้ไผ่แห้งเพราะว่าให้แสงสว่างเจิดจ้ามากกว่าฟืนทั่วไป

แม้ว่าในปัจจุบันนี้การลงข่วงจะเป็นกิจกรรมที่หาได้ยากแล้ว แต่การลงแขก ยังคงปฎิบัติสืบเนื่องกันมาจนปัจจุบันนี้ การลงแขก คือ การที่ชาวบ้านรวมตัวกัน เพื่อไปช่วยเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องให้ทำงานนั้นจนสำเร็จ เช่น การปลูกบ้าน การเกี่ยวข้าว หรือการย้อมสีเส้นไหม ประเพณีทั้งสองนี้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเอื้ออาทร และความสามัคคีต่อกันอย่างดียิ่ง

ภาพ 26 ประเพณีผูกเสี่ยว

พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

ผูกเสี่ยว หมายถึง “การผูกสัมพันธ์ไมตรีให้แน่นแฟ้น” ระหว่างมิตรสหายสองคนที่มีคุณสมบัติบางอย่างในตัวที่คล้ายกัน เช่น นิสัยหรือหน้าตา ในพิธีผูกเสี่ยวพ่อพราหมณ์จะใช้เส้นด้ายสีขาวบริสุทธิ์ผูกข้อมือของทั้งสองคน แต่ในยุคสมัยนี้การผูกเสี่ยวส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การแสดงหรือสาธิตให้คนรุ่นใหม่ยังคงเห็นความสำคัญของการผูกเสี่ยวเท่านั้น ในอดีตมิตรสหายที่เป็นเสี่ยวกันจะได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวของตน เพื่อเป็นการรักษาประเพณีผูกเสี่ยวให้คงอยู่สืบไปจังหวัดขอนแก่นได้จัดให้มีพิธีผูกเสี่ยวขึ้นทุกปีในเทศกาลงานไหมประจำปี

ไปที่ ภาพ 27 ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ชั้น 1 พระมหาธาตุแก่นนคร 

…………………….

เพิ่มเติม

  • ศาลาการเปรียญในภาพวาดวัดหนองแวง เป็นการจินตนาการขึ้นตามแบบของอีสาน(ภาพ 17) ในเวลาต่อมาครูธรรมรงค์ได้เห็นภาพวาดของพระครูสารกิจประสุต(มรณภาพแล้ว)  พบว่าในส่วนของศาลาการเปรียญหลังเดิมนั้นไม่ได้มีการยกพื้น

อดีต ภาพเก่า พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง ขอนแก่น จิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์

  • ในอดีตบึงแก่นนครมีเกาะดอนเหนือน้ำเล็กๆ หลายดอน (ภาพ 14) ชาวบ้านใช้เรือสัญจรไปมาระหว่างฝั่งน้ำ กระทั่งสร้างถนนกั้นน้ำข้ามฝั่งไปยังทิศตะวันออก คือ ถนนหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ริมบึงแก่นนคร) และสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ปรากฏในภาพคือฝั่งน้ำด้านทิศตะวันตกที่ตั้งของวัดหนองแวง วัดกลาง และวัดธาตุ เมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อน มีต้นมะพร้าวและต้นหมากปกคลุมอยู่มากมาย ทำให้วัดถูกบังไปหมด
  • ขอบพระคุณครูธรรมรงค์ ที่ได้ให้ความหมายภาพและชี้ให้เห็นบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการวาดภาพ ที่ทำให้เราค้นหาด้วยความสนุกและเพลิดเพลิน เช่น เครื่องเล่นโบราณ “กลิ้งล้อ” ที่เด็กๆ สมัยก่อนชอบเล่น รวมทั้งครูธรรมรงค์ ซึ่งมีอยู่หลายภาพด้วยกัน.

……………..

คณะผู้จัดทำ

ทิม บีเวอ, สุทธวรรณ บีเวอ และประภาพร สมภักดี

อีสานเอ็กซ์พลอเรอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *