
ปั่นตะลุยญี่ปุ่นฤดูใบไม้ผลิ: หมู่เกาะตอนใต้ จังหวัดฮิโรชิมะและจังหวัดเอฮิเมะ 3 คืน 4 วัน (ตอนที่ 2)
เส้นทาง Beyond the Shimanami Kaido
**เส้นทาง บียอนชิมะนะมิไคโด เป็นเส้นทางที่สามีผู้เขียนทำแผนที่จักรยานเอาไว้ ซึ่งใช้ทางร่วมเส้นทางจักรยานชิมะนะมิไคโดที่เป็นที่นิยมเป็นบางครั้ง เส้นทางนี้ส่วนใหญ่เราจะเข้าถนนเงียบเลียบเกาะต่างๆ ของทะเลในเซโตะ ผ่านหมู่บ้านจังหวัดฮิโรชิมะหรือฮิโรชิม่า และจังหวัดเอฮิเมะ (รายละเอียดเส้นทางในตอนที่ 1 คลิ๊กที่นี่)
แผนที่เส้นทาง คลิ๊ก Beyond the Shimanami Kaido · Ride with GPS
เมื่อดูการพัฒนาพื้นที่ของญี่ปุ่นเพื่อใช้ประโยชน์แล้ว การสร้างเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ทำให้เปิดโลกกว้างที่จะมองเห็นการออกแบบโดยเริ่มจากการให้ความสำคัญต่อ คนเดินถนน จักรยาน มอเตอร์ไซด์ และรถใหญ่ ตามลำดับ แบบจริงจัง
หากมองทรงปิระมิดในจำนวนผู้ใช้งาน แม้คนเดินหรือจักรยานจะเป็นกลุ่มที่มีผู้ใช้งานน้อยสุด แต่ญี่ปุ่นกลับให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ส่วนบ้านเราดูจะให้ความสำคัญกับการสร้างทางเพื่อรถยนต์ก่อน ซึ่งบางครั้งก็นำไปสู่อันตรายบ่อยครั้งแก่คนเดินหรือรถขนาดเล็ก โดยเฉพาะแทบไม่มีช่องทางสำหรับรถเล็กที่ต้องข้ามทางใหญ่สองสามเลน ทำให้ชาวบ้านเกือบทุกหมู่บ้านต้องหาวิธีแหกเกาะข้ามถนน เพื่อไม่ต้องไปยูเทิร์นไกลเสี่ยงชีวิตอีกหลายกิโลเมตร หากมองในแง่มุมนี้ก็จะเห็นการพัฒนาที่สามารถเข้าถึงชีวิตของทุกคนได้จริง ทำประโยชน์ได้ทั้งในปัจจุบันจนถึงอนาคต แม้กระทั่งเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวก็ยังเกิดตามมา ถ้าทุกคนทุกพาหนะรู้สึกปลอดภัยในการเดินทาง
วันที่ 3 ของการเดินทาง..
จากตอนที่แล้ว เราปั่นกันจนถึงเกาะโอชิมะ (Ōshima Island) ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดบรรยากาศได้เทียบเท่ากับความสวยงามที่อยู่เบื้องหน้า หมู่เกาะตอนใต้ในเส้นทางบียอนฯ ให้ความเงียบแบบที่ไม่เคยสัมผัส ไม่มีเสียงรถ ไม่มีเสียงอุตสาหกรรม มองเห็นบ้านหลายหลังปิดเงียบ แต่ก็มีบ้างที่ผ่านมาเห็นคนแก่นั่งทำสวนผักและเจอไก่ป่าวิ่งอยู่ข้างทาง เป็นโอกาสดีที่อยู่กับลมหายใจ และเสียงหัวใจตัวเองที่เต้นชัด
เช้านี้หลังทานอาหารเสร็จ เราแพ็คของขึ้นจักรยาน เจ้าของเรียวกังน่ารักออกมาส่งร่ำลา แล้วปั่นออกจากเรียวกังไปตามทางอย่างไม่รีบเร่ง

บนเกาะโอชิมะมีสถานที่น่าสนใจอย่างเช่น สวนกุหลาบโยชิอุมิ (Yoshiumi Rose Park) ที่มีกุหลาบกว่า 3,500 ต้น สวนแห่งนี้ห่างจากเรียวกังที่เราพักเพียง 800 เมตร เช้านี้ก็เลยถือเป็นจุดเช็คอินที่แรก
ที่นี่เราชมพันธุ์กุหลาบที่มีความหลากหลายได้ถึง 400 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นกุหลาบพันธุ์ดอกใหญ่ที่มีกลิ่นหอมที่เรียกว่า heirloom roses รวมอยู่กว่าร้อยชนิด
นอกจากสวนกุหลาบโยชิอุมิจะปลูกกุหลาบทั่วไปแล้ว ยังเก็บคอลเลคชั่นสายพันธุ์กุหลาบโบราณเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนของโจเซฟิน ราชินีฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับกุหลาบ โจเซฟินสะสมพันธุ์กุหลาบกว่า 2,500 สายพันธุ์ และยังถือเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันการปรับปรุงพันธุ์ จนเกิดกุหลาบสายพันธุ์ใหม่ๆ อีกด้วย
เสียดายที่เดือนเมษายนที่เรามา ต้นกุหลาบยังไม่มีดอก เวลาที่ดีในฤดูกาลชมดอกกุหลาบ คือ เทศกาลดอกกุหลาบ จัดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน


หลังออกจากสวนกุหลาบก็จะเริ่มปั่นขึ้นเขาและลงเขาไปเจอกับวิวภาพทะเลสวยงาม อากาศสดชื่น บรรยากาศดี รถไม่ค่อยมี

เส้นทางพาเลาะไปตามถนนรอบเกาะ ฝั่งหนึ่งเป็นทะเล อีกฝั่งก็เป็นที่พักอาศัย บ้านหลายหลังสร้างยุคปัจจุบันแต่ยังคงอนุรักษ์หลังคาทรงดั้งเดิม หลายบ้านชอบปลูกต้นสนประดับด้านหน้า สนของญี่ปุ่นมีหลากหลายชนิดมาก ทรงใบก็แตกต่างกัน คนญี่ปุ่นนิยมจัดทรงต้นสนใช้ไม้ดัดและตัดแต่งกิ่ง ทำให้มีเสน่ห์ราวกับงานศิลปะชั้นสูง








เราเลาะเส้นทางมาเรื่อยๆ จนมาถึงสะพานฮากาตะ-โอชิมะ เพื่อข้ามไปยังเกาะฮากาตะ (Hakata Island) ที่หัวสะพานมีอุปกรณ์น่าสนใจไว้ใช้บอกระดับความรุนแรงของลม ที่ผ่านมาหลายสะพานบางครั้งลมพัดผ่านแรงมากจนคุมรถไม่อยู่ ต้องลงเข็น ถ้ายังฝืนปั่นอาจเสี่ยงกระเด็นออกจากสะพานเอาง่ายๆ


สะพานฮากาตะ-โอชิมะ พาดผ่านเหนือเกาะขนาดเล็กที่ชื่อว่า มิชิกะ (Michika Island) มีที่ตั้งแค้มป์ บริเวณนี้เห็นมีคนมาปั่นจักรยานท่องเที่ยวกันเยอะพอสมควร




หลังออกจากสะพานเราก็ปั่นตามบ้านเรือนรอบๆ เกาะฮากาตะ (Hakata Island) ที่เกาะนี้มีชื่อเสียงด้านการทำเกลือ (Hakata no Shio) มีโรงงานผลิตบนเกาะ


จากนั้นเราปั่นออกจากเกาะฮากาตะ โดยใช้สะพานโอมิชิมะ (Omishima Bridge) ไปเกาะโอมิชิมะ (Ōmishima Island)






เส้นทางรอบเกาะโอมิชิมะเงียบสงบ แม้จะมีหมู่บ้านแต่ก็ไม่เห็นคนอยู่นอกบ้านทั้งที่อากาศดี
เราผ่านสวนส้มเล็กๆ ที่ปลูกในรั้วบ้านดูสะอาดตา น่าเดินเก็บ เพราะพื้นถูกปูด้วยผ้าคลุมดินป้องกันวัชพืช ส่วนไร่ส้มขนาดใหญ่ก็ปลูกตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรคลุมดินแต่ก็ไม่เห็นหญ้ารบกวน เห็นเพียงดินดำดูเละเทะถ้าฝนตก
ช่วงนี้หลายสวนปล่อยผลส้มให้หล่นใต้ต้นเต็มไปหมด ได้ยินว่าถ้าคุณภาพไม่ผ่านก็ทิ้ง ไม่นำเข้าตลาด ไม่คุ้มค่าแรงเก็บ


เราผ่านหมู่บ้านเหมือนในหนังสือการ์ตูน มีคลองน้ำใสที่มองเห็นกลีบซากุระสีชมพูล่องลอยไป หมู่บ้านนี้มีหลายหลังคาเรือน แต่ตลอดทางเห็นเพียง 5 คน คือ คุณป้าในร้านค้า คนขับรถส่งของ และคุณลุงคุณป้าสูงอายุสามคนนั่งคุยกันที่ที่นั่งรอรถเมย์
บริเวณด้านหน้าที่นั่งรอรถเมย์เห็นมีรูปปั้น “นามุ ไดชิ” คำว่า “นามุ” ในภาษาญี่ปุ่นเป็นคำที่ใช้ในการยกย่องหรือสรรเสริญต่อพระพุทธเจ้า, “ไดชิ” เป็นคำที่ใช้เรียกพระภิกษุที่มีตำแหน่งสูงหรือมีชื่อเสียง เจอบ่อยๆ ที่ท่านจะประดิษฐานอยู่ริมถนนในหมู่บ้านหรือด้านหน้าศาลเจ้า


เกาะโอมิชิมะนี้ยังมีชื่อเสียงในการปลูกเลม่อน เพราะอากาศอบอุ่น ไม่หนาวเหมือนทางตอนเหนือ และมีลมจากทะเลเซโตะช่วย ที่นี่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นขนม ลูกอม เค้ก ฯลฯ




ทางที่ผ่านเราจะพบพระโพธิสัตว์จิโซะริมถนนบ่อยครั้ง บางทีก็ที่หมู่บ้าน หน้าวัด บางทีก็อยู่ทางเดินในป่า ซึ่งหินแกะสลักรูปพระโพธิสัตว์จิโซะถูกประดิษฐานไว้ตามความเชื่อเพื่อปกป้องเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงผู้ที่เดินทาง




ปลายทางวันนี้เรามาถึงเมืองเซโตดะ (Setoda) บนเกาะอิคุชิ เขตเมืองโอโนมิจิ จังหวัดฮิโระชิมะ ตอนเย็น เมืองเซโตดะดูเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่นิยมเมืองหนึ่งในหมู่เกาะทะเลเซโตะ
เมืองนี้มีวัดและพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง คือ Kousanji อย่างไรก็ตามเราไม่ได้เข้าชม เพราะดูแล้วต้องใช้เวลาถึงคุ้มค่ากับการเก็บรายละเอียดและค่าตั๋ว เลยแวะวัดเล็กๆ บนเนินเขาแทนชื่อว่า วัดโฮเนนจิ (Hounen Temple, 法然寺) ด้านหน้าทางเข้าวัดมีต้นซากุระขนาดใหญ่ ดอกดก บันไดหน้าวัดที่ไต่ขึ้นที่สูง ทำให้มองเห็นวิวหลังคาเมืองได้ระดับหนึ่ง
ภายในวัดเราได้ยินเสียงสวดมนต์ดังมาจากภายในอาคาร เสียดายที่ไม่ได้เปิดให้ใครเข้าชมในยามเย็นเช่นนี้ เราเดินสำรวจบริเวณวัด แล้วก็เจอป้ายหินสลักคาดว่าเป็นป้ายหลุมศพหรือหินจารึกอนุสรณ์วางเรียงกันอยู่เยอะมากคล้ายกับย้ายมารวมกันจากที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งมีเสน่ห์แบบลึกลับและไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ (ตราบใดที่ยังมีแสงอยู่)


เมืองเซโตดะมีบ้านไม้โบราณอยู่หลายแห่ง มีส่วนน้อยที่ผุพังแล้วไม่ได้มีการซ่อมแซม คล้ายกับตั้งใจเพื่อเป็นอนุสรณ์การเรียนรู้ บ้านโบราณแห่งนี้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Wattle and daub หรือ สุชิกาเบะ (tsuchikabe, 土壁)
เทคนิคสุชิกาบะเน้นใช้การสานไม้และโปะดิน ผนังดินโคลนจะถูกสร้างขึ้นแบบเรียบง่ายด้วยดินเหนียวกับวัสดุธรรมชาติ เช่นฟาง ซึ่งจะใช้ฉาบไปบนโครงไม้ไผ่แนวตั้งและแนวนอนที่ร้อยเชือก และฉาบอีกชั้นด้วยดินเหนียวที่มีส่วนผสมละเอียดกว่า ส่วนชั้นสุดท้ายจะฉาบด้วยปูนขาวเรียบหรือปูนทราย ซึ่งทำให้ได้สีผิวผนังที่แตกต่างกันตามวัสดุที่ใช้


ส่วนภายนอกสุดของผนังบ้าน ถูกปิดทับอีกชั้นด้วยไม้สนซีดาร์ที่ถูกเผาจนเนื้อไม้ภายนอกดูเป็นถ่านสีดำ ซึ่งได้ทั้งความสวยงามและคงทน สร้างกลิ่นที่ป้องกันแมลง เชื้อรา รวมถึงลดการโก่งตัวของเนื้อไม้และทนต่อสภาพอากาศ เรียกเทคนิคนี้ว่า ยาคิสุกิ (Yakisugi, 焼杉)

ถนนภายในเมืองเซโตดะดูโล่งน่าเดิน นานทีมีรถผ่าน มองเห็นร้านรวงส่วนใหญ่ปิดบริการไปแล้ว เหลือเพียงร้านอาหารที่เปิดตอนเย็นบางร้าน อากาศที่เริ่มหนาว ทำให้เราดีใจมากที่ได้อุด้ง


ในร้านอุด้งหัวมุมปลายถนนสี่แยก เข้าไปเห็นมีตู้กดสั่งอาหารอัตโนมัติ วิธีใช้คือกดปุ่มเมนูที่ต้องการ หยอดเหรียญตามราคาที่ปรากฏ รายการอาหารที่สั่งก็จะไปโผล่ในครัว ส่วนเราจะได้ตั๋วชื่ออาหารที่สั่งมาเช่นกัน แต่เมื่อไม่มีรายการอาหารที่ทำแบบมังสวิรัตน์โดยตรง เราก็แจ้งร้านว่าไม่เอาเนื้อสัตว์ เจ้าของร้านถามว่าอยากได้อะไรแทนไหม มีสาหร่าย มีเต้าหู้ (บางร้านมีผักทอดด้วย) ซึ่งร้านอุด้งนับว่าสะดวกสำหรับสายมังสวิรัตน์ที่ไม่เกี่ยงว่าน้ำซุปแบบไหน ส่วนน้ำซุปยอมรับว่าเค็มทุกเจ้า มีตั้งแต่เค็มมากไปจนถึงต้องสั่งข้าวเปล่ามากิน แล้วอุด้งกลายเป็นกับข้าว


คืนที่ 3 บนเกาะอิคุชิ เราได้ที่พักเป็นเรียวกังชื่อ ซูมิโนเอะ (Ryokan Suminoe) ยังคงความดั้งเดิมเป็นไม้ทั้งหลัง และแถมยังมีบันไดไม้ขึ้นชั้นสองที่เก่าแก่เป็นร้อยปีแต่ยังมีสภาพแข็งแรงและยังใช้งานอยู่ ด้านในเรียวกังจัดสวนหย่อม มีต้นสนหลายแบบ กลางคืนบรรกาศดีมาก
อาคารที่พักเป็นรูปตัวแอล มีสองชั้น เราเช็คอินและถอดรองเท้าเดินแบกสัมภาระขึ้นบันไดไปยังห้องพักที่อยู่ชั้นสอง ทางเดินทอดยาวไปในบรรยากาศแบบโบราณ เปิดประตูเข้าไปในตัวห้อง มีฉากกั้นเป็นสัดส่วน พื้นห้องปูด้วยเสื่อทาทามิเดินแล้วนิ่มสบายเท้า ภายในตู้เสื้อผ้าได้จัดเตรียมเสื้อลำลองไว้สองชุด และมีชุดชากาน้ำไว้ให้ชงดื่มเองอยู่บนโต๊ะ
บริเวณมุมด้านหลังห้อง ฟากหนึ่งเป็นห้องน้ำ อีกฝากเป็นโต๊ะนั่งเล่นติดริมหน้าต่าง มองออกไปเห็นทิวทัศน์แสนสงบของทะเล


บริเวณชั้น 1 ของอาคารที่พักเป็นห้องอาหารที่มีฉากกั้นเป็นสัดส่วน ฉากกั้นพวกนี้มีลักษณะเป็นบานเลื่อนกรอบไม้เรียก โซจิ (Shoji) เป็นฉากกั้นห้องแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ส่วนมากใช้กระดาษวาชิ (Washi) ที่บางเกือบโปร่งแสง ทำให้ห้องดูไม่ทึบ กระดาษวาชิทำจากต้น Kozo หรือ Japanese Mulberry ลอกกิ่งเอาแค่ส่วนเปลือกของลำต้น (bark) จากนั้นแช่น้ำเพื่อขัดเอาผิวนอกสุดออก เอาแต่ผิวชั้นในสีขาวมาทำให้เปื่อยโดยการต้ม จากนั้นทุบเละจนยุ่ยกลายเป็นเยื่อกระดาษ สามารถนำไปผลิตกระดาษได้ (ดูกรรมวิธีการทำกระดาษ คลิ๊กที่นี่)




ตอนกลางคืนเกือบสองทุ่ม คิดว่าที่ห้องอาบน้ำรวมน่าจะไม่มีคนแล้ว ฉันจัดแจงสวมเสื้อลำลองพร้อมผ้าเช็ดตัวเดินไปอีกอาคาร ในห้องอาบน้ำมีผักบัวและอ่างสำหรับแช่เหมือนกับเรียวกังอื่นๆ ที่เคยพัก ถอดเสื้อผ้าไว้ที่เก็บสัมภาระ คิดว่าถ้ามีผ้าขนหนูเล็กๆ ชุบน้ำร้อนโปะหัวตอนแช่คงจะดี ชำระร่างกายกับฝักบัวเสร็จ จุ่มขาลงอ่างแช่ได้นิดหน่อย ปรากฏว่าได้เด้งกลับมาเพราะร้อนมาก ดูแล้วถ้าฝืนลงแช่อีกคงจะสุก แถมต้องขึ้นมาอาบก่อนกลับอีกรอบ คิดอย่างนั้นแล้วความขี้เกียจก็ชนะทันที กลับไปนอนอุ่นในผ้าห่มดีกว่า


วันสุดท้ายของทริปจักรยานหมู่เกาะตอนใต้..
รุ่งเช้าเราออกเดินทางกลับสู่เมืองโอโนมิจิ อันเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของการเดินทางและจุดสิ้นสุดการเดินทางเพื่อคืนจักรยาน ไฮไลท์ของเส้นทางวันนี้คงเป็นแปลงผักที่หลากหลาย กับ Innoshima Flower Center สวนพฤกศาสตร์ที่เก็บต้นดอกไม้นานาพันธุ์
















ในเส้นทางกลับเราปั่นเลียบตามถนนรอบเกาะมุไคชิมะ มองเห็นวิวสะพานมุไคชิมะ (Mukaishima Bridge) ที่ใช้ข้ามไปเกาะอิวาชิ (Iwashi Island) มุมนี้เป็นจุดเช็คอินที่สวยจุดหนึ่ง




กลับมาถึงเมืองโอโนมิจิ วันที่ 10 เมษายน เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง เราทำการคืนจักรยานที่ร้าน ร้านรับจักรยานแล้วเช็ครถ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม พอมีเวลาเดินหาอะไรเล็กๆ ไว้ทานบนรถไฟที่จะไปโอซาก้า จบทริปที่สวยงามมากอีกหนึ่งครั้ง.
…………….
*เส้นทางปั่นจักรยานรอบหมู่เกาะตอนใต้ ทะเลในเซโตะ เส้นทางที่พัฒนาเข้าทางเล็กและใช้ทางร่วมกับเส้นปั่นจักรยานยอดนิยมชิมะนะมิไคโด เรียกชื่อเส้นทางนี้ว่า “บียอนชิมะนะมิไคโด”
**บันทึกการเดินทางปั่นจักรยานระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2568 หมู่เกาะทะเลในเซโตะ จังหวัดฮิโระชิมะ (Hiroshima) และจังหวัดเอฮิเมะ (Ehime) ระยะทาง 167.5 กิโลเมตร
กลับไปตอนที่ 1 คลิ๊กที่นี่