เล่าเรื่องเมืองหนองคาย พ.ศ.2503 (ตอนที่ 2/2)

เล่าเรื่องเมืองหนองคาย พ.ศ.2503 (ตอนที่ 2/2)

…สกู๊ตเตอร์ มีสองยี่ห้อ คือ เวสป้า และแลมเบตต้า จากอิตาลีทั้งคู่  ทั้งหมดนี้นับคันได้ และชาวเมืองรู้ด้วยว่าเป็นรถของใคร มันน่าอิจฉาเวลารถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน ขนาดไม่มีใครซิ่ง แต่ดูมันไม่เมื่อยขาเหมือนรถถีบ มีรถยนต์อยู่หลายคัน ส่วนมากเป็นของทางราชการ มีรถจิ๊บเป็นหลัก ส่วนรถเก๋ง มีแต่ของข้าหลวงเท่านั้น คนธรรมดามีเงิน ถ้าซื้อแล้วจะเอาไปวิ่งที่ไหน ถนนมันมีไม่กี่กิโล..

 

(เรื่องเล่าต่อจากตอนที่แล้ว..)

…พอพวกมาก ผมก็มีของกินฟรี ไปบ้านไหนก็เรียก หัวหน้ากินข้าว กินโน่นกินนี่ หน้านี้มีมะม่วงเยอะ พันธุ์ที่อร่อยที่สุดตอนนั้น คือ “ทองดำ” ลูกยังไม่แก่ดี ก็โดนเราสอยเอามากินแล้ว มันเปรี้ยวน้อยกว่าพันธุ์อื่น นอกนั้นมี “หมากน้ำนม”หรือ “ซ่าแอปเปิล” ไม่ค่อยอร่อยนักแต่ต้นมันให้ร่มเงาดี ส่วนของหวานธรรมชาติอีกอย่างคือ “ลูกตะขบ” มีขึ้นไปทั้งหนองคาย เพราะหนองคายมีนก “ปรอดหัวขวาน” ก็ นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก ชนิดก้นแดง ส่งเสียงดัง เรียกเพื่อนมากินลูกตะขบสุก แล้วไปเที่ยวปล่อยหนัก ทั้งเมือง ต้นตะขบเลยขึ้นมากมาย ได้ร่มเงาหนาทึบไปทั่ว ส่วนผลไม้ยอดฮิตหน้าฝน ก็คงเป็นลำไย นั่นเอง เป็นลำไยลูกดกมากแต่ผลเล็ก มีเนื้อนิดเดียว ต้นที่เนื้อหนา หวานอร่อย มีอยู่ที่บ้าน ครู จำชื่อท่านไม่ได้ บ้านท่านอยู่ตรงข้ามโรงแรมพรรณทวี ไม่ไกลจากบ้านเรานัก สมัยนั้นยังไม่เคยกินลำไย “กะโหลก” จากภาคเหนือเลย  เห็นลำไยลูกโต เป็นแรงจูงใจให้ผมได้ปลูกลำไยลูกโต อร่อย หลายสายพันธุ์ ที่บ้านสวนห้วยเดื่อ จังหวัดหนองบัวลำภู ทำมาหลายสิบปี และปัจจุบันเลิกทำ เพราะเปลี่ยนอาชีพใหม่

หมากน้ำนม หนองคาย เรื่องเล่าอดีต
หมากน้ำนม ในตลาดไทยหายาก ภาพนี้ถ่ายจาก สปป.ลาว บิออกมามีแต่ยางสีขาวๆ หวานนิดๆ

ต่อมาก็ไม่เกรงใคร ถือว่าข้าก็แน่ เดินเลาะแม่โขงทุกวัน จากหัวรถไฟ หลังโรงพยาบาล อู่เรือตำรวจน้ำ วัดหายโศก ไปจนถึงคุ้มวัดธาตุ ระยะทางประมาณ 4 กิโล ตลอดแนวเป็นชายฝั่งลาดเอียง เป็นดินตะกอนปนทราย ชาวบ้านจะแบ่งที่กัน ปลูกผักสวนครัว ทำทางเดินเป็นขั้นบันไดลงไปในน้ำ ตักน้ำหาบขึ้นมารดผัก ชาวบ้านขอกันกิน เอื้อเฟ้อกัน ผักที่ปลูกเป็นผักชั่วคราว เช่นมะเขือเทศลูกเล็กเป็นพวง เรียกว่า “หมากเขือเคือ” เอามาใส่ “ตำหมากหุ่ง” ได้รสเปรี้ยว ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ผมเคยเจอเมื่อหลายปีแล้วที่ จังหวัดน่าน เขาฮ้องว่า “มะเขือส้ม” นอกนั้นมีพืชเถา เช่นถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว แตงกวาลูกเล็ก บวบเหลี่ยม บวบงู ฟักทอง ฟักเขียว พวกนี้มี “ค้าง” หรือร้าน ให้เถาทอดยอดไปได้ดี  ส่วนผักต่างๆ มีหลายชนิด เช่น ตั้งโอ๋ สลัด ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม ผักกาดหัว หอม กระเทียม สะระแหน่ หอมเป ผักชีลาว หอมป้อม ผักแป้น ส่วนคื่นฉ่าย ยังไม่นิยม มีชาวญวนเอายอดป่านน้ำมีงอกตามธรรมชาติที่ริมตลิ่งมาทำอาหาร และชอบปลูก “ผักแพว”หรือพริกม้า กินเป็นผัก บางรายทำสวนพริกอย่างเดียว  มองลงไปที่แม่น้ำโขง หน้าแล้ง ระดับน้ำลดลงมาก แต่ยังมีแม่น้ำกว้างไปจดฝั่งประเทศลาว ไม่มีหาดทรายกั้นกลางเหมือนทุกวันนี้ มีเรือแพหลายประเภท หลายชนิด เรือโดยสารข้ามฟาก ไทย- ลาว เป็นเรือยนต์มีหลังคา มีความกว้างประมาณ 2เมตรครึ่ง มีความยาวประมาณ 15 เมตร วิ่งตัดแม่น้ำโขงไปมาขวักไขว่ ส่วนบริเวณใกล้ฝั่งเข้ามา จะมีเรือหางยาว ขนส่งทั้งคนและของฝั่งไทย ขึ้น ลง ตลอดวัน

แม่น้ำโขง ช่วงปีนั้น ไม่ได้มีอันตรายมากมายหากมีเรือล่ม เพราะต่างคนต่างช่วยกันได้อย่างรวดเร็ว เรือแพมีมากมาย คนชำนาญทางน้ำมีมากจึงไม่ค่อยมีข่าวถึงตายกันบ่อยนัก ด้วยความเคยชินนี้ ผมกับแม่น้ำโขงจะสนิทแนบแน่นกันมาก วันไหนไม่ได้ลงอาบน้ำโขง มันก็เหมือนไม่ได้กินข้าว น้ำโขงหน้าแล้งใสแจ๋ว มองเห็นก้อนกรวดใต้น้ำ ต่างกับปัจจุบันนี้อย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดกีฬาใหม่ ที่ผมและเพื่อนเล่นกัน คือ มุดน้ำงมกรวด เอาเฉพาะกรวดสีขาวในชั่วอึดใจ ใครงมได้กรวดมากก็ชนะภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเองก็เท่านั้น แต่ว่า มีอย่างหนึ่งอายที่จะเล่า คือบนฝั่ง มีเสื้อและกางเกง กองอยู่ ของใครของมัน ก็กลัวเสื้อ กางเกงเปียก อายุ 9 ขวบแล้ว ยังแก้ผ้าโดดน้ำกันอยู่เลย ไม่เคยอายเหมือนเด็กทุกวันนี้  ที่ท่าน้ำวัดหายโศก มีเรือกระแซง ขนปลาแดก มาจอด ผูกโยงกับตอไม้ใหญ่อยู่ลำหนึ่ง ผมไปแถวนั้นทุกวันตามปกติ แต่ไม่เคยเห็นเจ้าของเรือเลยสักครั้ง พอเดินเข้าใกล้ จะมีกลิ่นปลาแดกออกมา จะว่าเหม็น ก็ไม่เชิง มันพอทนได้ เลยลองปีนกราบเรือขึ้นไป เห็นมีประตูด้านข้างชิดฝั่งปิด อยู่ ผมเดินไปท้ายเรือ เห็นมีห้องเล็กๆยื่นออกไป เปิดดูเป็นห้องส้วมนั่งยอง แบบไม่มีหัวส้วม คือมีแต่ช่องให้ของเสียตกลงแม่น้ำไป เดินอ้อมมาฝั่งทางแม่น้ำ เห็นประตูเปิดอยู่ ผมเอามือบีบจมูกชะโงก เข้าไปดู เห็นมีโอ่งและไหเต็มท้องเรือ เป็นไหปลาแดก เรียกกันว่า “ไหหมื่น” คือจุ น้ำหนักไม่เกิน6 หมื่น หนึ่งหมื่น เท่ากับ 12 กิโลกรัม  6 หมื่น เท่ากับ 72 กิโลกรัม แลมีไหขนาดใหญ่ เรียกว่า “ไหแสน” หรือ10 หมื่น ก็คือ จุน้ำหนักปลาแดก 120 กิโลกรัมขึ้นไป เลยได้ความคิดห่ามๆขึ้นมา ในวันต่อมาผมไปซื้อชุดเบ็ดตกปลามา ชุดละ สลึง มีเบ็ดตัวเล็กๆ ทุ่นทำจากเปลือกไม้ทองหลางและเชือกด้าย ผมเอามา 2 ชุด เดินมาท่าน้ำวัดหายโศก เรือปลาแดกยังอยู่ ผมปีนขึ้นไป แล้วอ้อมไปเข้าประตู เปิดใบตองปิดปลาแดกออก ขโมยปลาแดกออกมาหนึ่งตัว กลับออกมานั่งที่กราบเรือ ฉีกปลาแดกออก เอาเบ็ดเกี่ยวเนื้อปลาแดก เอาสายเบ็ดผูกกับหัวแม่เท้า แล้วโยนเบ็ดลงน้ำ นั่งพิงฝาเรืออยู่ไม่นาน ปลาติดเบ็ด เป็นปลาที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาแปบ” ตัวเหมือนปลาซิว แต่โตประมาณ 3 นิ้ว ตัวบางมาก เกล็ดละเอียด ชอบอยู่กันเป็นฝูง แรกๆก็คิดว่าจะเอาไปบ้าน แต่พอเห็นฝูงมันอาศัยอยู่ใกล้กับเรือเลยเปลี่ยนใจ เพราะเกรงว่ามันจะตอด สิ่งที่ตกลงแม่น้ำ ปลดเป็ดออกแล้วปล่อยมันลงน้ำ ผมสนุกกับการทำบาปนี้ไม่นานก็เบื่อ เพื่อนมาชวนเล่นห่ามกันอีก กำหนดเกมขึ้นใหม่อีกอย่าง คือมุดน้ำลอดท้องเรือกระแซงขนปลาแดกลำนี้แหละ กติกาคือ มุดกลางลำเรือ จากฝั่ง ไปโผล่ทางกลางน้ำ ผมก็เอากับเขาบ้าง เกือบจมน้ำเพราะไม่คิดว่าเรือจะกว้าง ประมาณตนแบบไม่ได้คิดถึงอันตรายอะไรกันเลย ซนกันแบบข้าทำได้ ข้าเก่ง หลังจากวันนั้นผมสำรวจเรือลำนี้ใหม่ มันเป็นเรือต่อขึ้นด้วยไม้เนื้อแข็งใช้บรรทุกสินค้า น้ำหนักมาก ไม่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ต้องอาศัยเรือยนต์ลำอื่น ลากโยงจากปลายน้ำ ทวนน้ำขึ้นมา พอถึงที่จอดขายสินค้า จะพักผูกโยงกับหลักบนฝั่งไว้ ขนสินค้าขึ้นไปขาย พอสินค้าหมด จะหันหัวเรือลงใต้ ปล่อยให้เรือไหลไปที่จุดเริ่ม โดยใช้คนเพียงคนเดียวไว้คัดท้ายเรือเท่านั้น ความกว้างของเรือ ประมาณ 3.2 เมตร ความยาวประมาณ 12- 15 เมตร ลักษณะหัว ท้าย แหลม ป่องตรงกลาง มีหลังคาเป็นพื้นไม้บุด้วยสังกะสีแผ่นเรียบอีกที กันน้ำรั่วซึมลงมาได้  ใช้กันแดดและฝน หลังคานี้เหมือนดาดฟ้าไม่ใช่รูปทรงจั่ว สามารถบรรทุกของได้อีกมาก  เพราะมีเสาไม้เนื้อแข็งรับน้ำหนักของได้อย่างมั่นคง ตัวห้องสินค้าจะมีฝาไม้กั้นรอบตัวเรือ  มีประตูด้านข้างเรือทั้งสองข้าง ส่วนในท้องเรือ ปูด้วยพื้นไม้เนื้อแข็ง รองรับสินค้าหนักได้ มีเว้นช่องพื้นไว้ เพื่อวิดน้ำที่ซึมเข้าท้องเรือ  ตรงหัวมีดาดฟ้าเล็กๆ ปลายสุดของหัวเรือเป็นหลักไม้โผล่ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ผูกเชือกโยงเรือ มีเชือกปอเส้นใหญ่ผูกไว้กับหลัก สองสามเส้น

น้ำในแม่โขงหน้าแล้งยังไหลเชี่ยวและเย็นมาก  อากาศร้อนชื้น พอได้อาบน้ำสะอาด มันสดชื่นจริงๆ ที่ท่าน้ำวัดหายโศก จะมีสะพานคอนกรีตยื่นออกไปในแม่น้ำ อยู่ 2 สะพานคู่กันพื้นสะพานอยู่ระดับเดียวกับพื้นถนน สะพานทางเหนือน้ำมีห้องเล็กๆอยู่ปลายสะพาน ทราบเป็นเลาๆว่า มีเครื่องมือวัดความสูงของระดับน้ำ ไม่ทราบหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนสะพานทางใต้ ห่างกันประมาณ 20 เมตร ผิวสะพานกว้างมาก มีราวสะพานทำด้วยท่อเหล็กทั้งสองฟาก มีสูงประมาณ 1 เมตรเศษ สะพานนี้เป็นที่ตั้งเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำจากแม่โขงขึ้นมาทำน้ำประปา โดยสูบขึ้นตรงทางดิ่ง ใช้เครื่องยนต์เป็นกำลังหมุนปั๊มน้ำ  เวลาน้ำลงหน้าแล้ง เห็นเสาสะพานสูงมาก สัก 20 เมตรได้ แต่พอหน้าฝน น้ำขึ้นสูง จากระดับท้องสะพานลงไปถึงผิวน้ำประมาณ  6 -7 เมตร กำลังเหมาะที่จะดิ่ง ตอนเย็นๆ วันฝนไม่ตก จะมีผู้กล้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาดิ่งน้ำกันที่นี่  ถอดกางเกงและเสื้อไว้บนพื้นสะพาน จากนั้นปีนราวสะพาน พร้อมกับเสียงโห่แบบทาร์ซานก่อนจะกระโดดตูมหายไปในน้ำสักพักก็โผล่ แล้วว่ายเข้าฝั่ง หนุ่ม 9 ขวบอย่างผมโชว์ชุดว่ายน้ำแบบธรรมชาติ แบบไม่มีใครเขินใคร ทั้งๆที่มีสาวน้อยสาวใหญ่ จะจูงน้องจูงหลานมาเดินเที่ยว ป้อนข้าวเย็น ยังกับมีงานวัด คิดถึงตอนนั้นมันรู้สึกแบบบอกไม่ถูก แต่ก็ไม่เห็นมีใครว่าใคร เป็นปกติเฉยๆ คงเหมือนชนเผ่าหลายเผ่าที่ผู้หญิงเปลือยอก ก็ไม่มีใครว่าอุจจาด มันเป็นธรรมดาจริงๆ

ที่วัดหายโศกตรงมุมสี่แยก จะจัดเป็นสวนหย่อม มีเสาไฟสูงอยู่ตรงกลาง โคมไฟสวย มีหลอดแสงจันทร์ อยู่เพียงหลอดเดียว แต่ส่องสว่างมากจริงๆ ตอนค่ำคนมาเดินเล่นที่นี่ เป็นแหล่งขายของกินจุกจิก เช่น รวมมิตรน้ำแข็งไส ข้าวโพดต้ม ถั่วลิสงมีทั้งแบบต้มและคั่ว หน้าลำไย จะมีลำไยเป็นลูกๆใส่กระทงใบตองกล้วยขาย คนมากทุกคืน ดูไปแล้วเหมือนแมลงมาตอมไฟฟ้า บริเวณนี้อยู่ใกล้จวนข้าหลวง มีตำรวจรักษาการณ์อยู่ใกล้ จึงปลอดภัยดี ไม่มีอาชญากรรม เห็นทุกคนมีความสุขดี ผมแอบหนีคุณพ่อไปตรงนี้บ่อย เพราะห่างบ้านแค่ร้อยกว่าเมตรเท่านั้น

พูดถึงสภาพบ้านเมือง สมัยนั้นหนองคายมีถนนหลักอยู่สามสาย ยาวไปตามแม่น้ำโขง จากหัวจรดท้ายเมืองเลยทีเดียว สายแรกอยู่ริมน้ำ เรียกว่า ริมโขง สายกลางเรียกว่า มีชัย และสายใหม่ตอนนั้นยังไม่เสร็จดีคือ ถนนประจักษ์ ถนนทั้งเมืองมีสายเดียวที่ราดยางมะตอย คือ ถนนมีชัย ผ่านหน้าศาลากลาง สถานีตำรวจ และหน้าจวนข้าหลวง นอกนั้นเป็นดินลูกรัง ดีที่ไม่มีรถยนต์มาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องฝุ่นมากนัก เห็นฝุ่นคลุ้ง ตอนพนักงานทำสะอาดถนนกวาดใบไม้ในตอนเช้าเท่านั้น ถัดจากจวนข้าหลวงไปท้ายเมืองจะเป็นเขตเศรษฐกิจ มีโรงภาพยนตร์อยู่โรงเดียว คือ บันเทิงกิจ มีภัตตาคารอาหารจีนอยู่ที่เดียว จำชื่อไม่ได้แล้ว มีร้านขายของชำที่ผมไปซื้อของประจำ จำได้แม่นยำว่าชื่อ “คุนเซ่งฮวด” เมนูที่ผมชอบ คือ ซอสแมกกี้คลุกข้าว กับไข่ต้ม ได้ซอสแมกกี้ก็ที่นี่ เป็นของมาจากฝรั่งเศส มีอาหารทะเลแห้ง กระเพาะปลา หนวดเต่า เขากระต่าย จากเมืองจีนเยอะแยะ ร้านนี้อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 1 กม. เดินไปกลับลิ้นห้อยแล้ว ตึกรามบ้านช่อง ตรงบริเวณริมโขง จากท่าวัดหายโศกลงไปส่วนมากเป็นบ้านชาวญวน  เป็นบ้านชั้นเดียวก่อด้วยอิฐฉาบปูน มุงกระเบื้องดินขอ หน้าบ้านหันลงแม่น้ำ บนถนนจะทำเป็นซุ้มไม้ ปลูกฟักเขียวลูกยาวๆไว้ เถามันเลื้อยขึ้นบนซุ้ม เป็นร่มเงาให้ชุมชนเป็นอย่างดี คนเดินลอดไปลอดมา ถ้าเดินก้มหน้า มีสิทธ์โหม่งกับลูกฟักที่ห้อยลงมา ในปัจจุบันนี้ไม่เหลือสักหลัง พังลงแม่น้ำโขงหมดแล้ว ตลิ่งพังเข้ามาลึกมาก สมัยนั้น ธาตุมี่วัดธาตุยังไม่พัง หลายปีต่อมาตอนผมเป็นหนุ่ม ขับรถชมเมือง เห็นธาตุพังลงแม่โขงแล้ว แต่อยู่ชิดฝั่ง มาบัดนี้ธาตุนั้นอยู่กลางลำโขงแล้ว ก็ตรงที่นิยมไปวนเรือลอยอังคารญาติที่ถึงแก่กรรม ระยะทางไกลหลายร้อยเมตรจากฝั่งในปัจจุบันนี้ เหมือนมีใครเอาเครื่องจักรกลมาลากไปทิ้งไว้กลางน้ำ แทบไม่น่าเชื่อ

ถัดเข้ามาที่ย่านการค้ากลางเมือง สองฟากถนนมีชัย ส่วนมากเป็นที่อยู่ของคนจีน บริเวณนี้มีตึกสองชั้น ทรงฝรั่งเศสอยู่มาก ปัจจุบันยังหลงเหลืออยู่แถววัดศรีคูนเมือง ผมชอบฝีมือช่างไม้ที่ทำประตูหน้าต่าง ช่องลมเป็นเกล็ดละเอียด บางตึกประดับช่องแสงด้วยกระจกสี หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ดูแล้วน่าจะอยู่สบายกว่าตึกคอนกรีตในปัจจุบัน  ส่วนพาหนะ ชาวเมืองใช้รถจักรยานถีบไปมา ทุกคนต้องมีใบอนุญาตขับขี่จักรยาน ไม่เช่นนั้นเมื่อถูกตรวจก็เป็นเรื่อง จักรยานบางคันก็ดูดีมีราคา อย่างยี่ห้อ ราเล่ห์ แพงที่สุด รองลงมาเป็นยี่ห้อ ฮัมเบอร์ ของคุณพ่อผมยี่ห้อ อาร์มสตรอง ส่วนชาวญวนนิยมใช้รถจักรยานยี่ห้อ โปโซ หรือเปอรโยต์ ทำในฝรั่งเศส มีชิ้นส่วนทำด้วยอลูมิเนียม จึงมีน้ำหนักเบา สิบกว่าปีที่ผ่านมาผมพบแขวนโชว์อยู่คันหนึ่ง ที่ร้าน ต.ฟ้าไทย สี่แยกตลาดไทยอีสาน จังหวัดอุดรฯ ถามราคาถึงกับตกใจ สองแสนสองครับ เจ้าของร้านบอก

ในช่วงเวลานั้น จะมีรถสามล้อเครื่องขนาดใหญ่ รับส่งโดยสารระหว่างอำเภอ ผมเคยใช้บริการไปอำเภอโพนพิสัย จำได้ว่ามีเครื่องใหญ่มาก ตัวที่นั่งโดยสารลักษณะเหมือนสามล้อถีบ แต่ใหญ่กว่า ถ้านั่งเบียดจะได้สามคน มีเบาะพิเศษอีกอยู่หลังอานคนขับ หันหน้าเข้าหาสามคน เบ็ดเสร็จโดยสารได้ 4 คน ส่วน สัมภาระของหนักจะกองไว้ที่พักเท้า ของเบาจะเอาไว้ตะแกรงท้ายรถมีประทุนกันแดดกันฝน คนขับมีหมวกทรงหม้อตาล สวมแว่นกันลม เหมือนนักบินสงครามโลก เท่ซะไม่มี รถนี้วิ่งเร็ว ผมจำยี่ห้อเครื่องไม่ได้ อาจจะเป็นฮาเล่ย์ เดวิตสัน เพราะช่วงนั้นจะมีมาใช้งานสาธารณสุขแล้ว เป็นแบบอานคู่ อาจจะเอาของเก่ามาดัดแปลงก็เป็นได้  จักรยายยนต์เริ่มมี เอ็มแซด บิเอ็มดับเบิลยู และฮอนด้า 50 วิ่งให้เห็นประปราย สกู๊ตเตอร์ มีสองยี่ห้อ คือ เวสป้า และแลมเบตต้า จากอิตาลีทั้งคู่  ทั้งหมดนี้นับคันได้ และชาวเมืองรู้ด้วยว่าเป็นรถของใคร มันน่าอิจฉาเวลารถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน ขนาดไม่มีใครซิ่ง แต่ดูมันไม่เมื่อยขาเหมือนรถถีบ มีรถยนต์อยู่หลายคัน ส่วนมากเป็นของทางราชการ มีรถจิ๊บเป็นหลัก ส่วนรถเก๋ง มีแต่ของข้าหลวงเท่านั้น คนธรรมดามีเงิน ถ้าซื้อแล้วจะเอาไปวิ่งที่ไหน ถนนมันมีไม่กี่กิโล

พูดถึงประเพณีเมือง หนองคายนับว่าเป็นเมืองแห่งประเพณีจริงๆ คนเมืองยังถือฮีตสิบสอง กันอย่างเหนียวแน่นเริ่มแต่..

เดือนเจียง (เดือนอ้าย) บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ

เดือนยี่ หลังการเก็บเกี่ยวจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็น มงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียม เก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน

เดือนสาม ในวันเพ็ญ เดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่ จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ

เดือนสี่  ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่นและมาลัย แสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะพบพระศรีอริยะเมตไตย หรือเข้าถึงศาสนาของพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณะพราหมณาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกัน กับให้อุตส่าห์ฟังเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว เป็นต้น ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า “กัณฑ์หลอน”

เดือนห้า ตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำ การสรงน้ำมีการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพร เป็นประเพณีอันดีงามควรรักษาไว้ มีการทำบุญถวายทาน การทำบุญสรงน้ำกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า บางทีเรียกว่า บุญเดือนห้า ถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย

เดือนหก  ทำบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน และจะมีงานบวชนาคพร้อมกันด้วย การทำบุญเดือนหกเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำเอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหารเหล้ายามาเลี้ยงแขกโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ การเซิ้งจะกระทำด้วยความสนุกสนาน ไม่มีการทะเลาะวิวาท คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศ แต่ก็ไม่ถือสาหรือคิดเป็นเรื่องหยาบคายแต่อย่างใด ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้น ก็มีการทำบุญเลี้ยงพระฟังเทศน์ ช่วงเย็นมีการเวียนเทียน ที่หนองคายมี “ฮ้านบั้งไฟ” อยู่ทางวัดทุ่งสว่าง จุดขึ้นไปแล้ว ตกใส่หัวใครก็ว่า “เป็นเคราะห์”ของผู้นั้น จะเอาความคนจุดหรือเจ้าของบั้งไฟไม่ได้ ถือเป็นอุบัติเหตุ หนึ่งในล้าน เพราะบ้านคนยังอยู่กันไม่หนาแน่น ตำรวจทำสำนวนอุบัติเหตุ จบ ถ้าทุกวันนี้ก็เรียบร้อย เจ้าของบั้งไฟ หมดตูดแน่ๆ

เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

ดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง จึงคล้ายกับทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เช่นมีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนาตอนบ่าย ชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร ประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองกล้วย ร้อยเป็นพวง เตรียมไว้ถวายพระช่วงเลี้ยงเพล บางพื้นที่อาจจะนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง พร้อมทั้งกล่าวเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้ ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำหลังการถวายภัตตาหารพระสงฆ์แทน

เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก  ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทานและเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ เป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกับบุญข้าวประดับดิน

เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้ โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธี พอตกกลางคืนมีการจุดประทีป โคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป

เดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่าตามคติเดิม มีการทำบุญกองกฐิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานครั้งก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกัน ตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัย อยู่ตามริมฝั่งน้ำแม่น้ำโขง จะมีการแข่งเรือ เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค มีเรือแข่งของคุ้มวัดเกือบทุกวัด ลงแข่งกันสนุกสนาน บางปีมีเรือจากฝั่งลาวมาร่วมด้วย คนดูก็นั่งดูกันใต้ร่มไม้บนฝั่ง ไม่มีกองเชียร์หรือมีนักพากย์เหมือนประเทศไทยปัจจุบันนี้ เรื่องเรือแข่งที่หนองคาย ผมไม่ค่อยสันทัด แต่เห็นชาวบ้านปลูกโรงยาว มีอู่ ตั้งเรือยาวไว้แทบทุกวัด และช่วงแข่งเรือคือเดือนสิบสอง ผมไม่มีโอกาสได้เห็น ตอนโตเป็นหนุ่มไปเที่ยวงานแข่งเรือหนองคาย ก็คอยแต่เหล่สาว เลยไม่ได้ดูเรือแข่งกันสักลำ

ที่เล่ามานี้เป็นความจำส่วนตัว อาจจะเวอร์ซักหน่อย ขอบคุณที่อ่านจนจบ จบแล้วครับ.

 

ผู้เขียน : อนุชาติ อินทรพาณิช

บรรณาธิการ : สุทธวรรณ บีเวอ

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *