เล่าเรื่องเมืองหนองคาย พ.ศ.2503 (ตอนที่ 1/2)

เล่าเรื่องเมืองหนองคาย พ.ศ.2503 (ตอนที่ 1/2)

เรื่องเล่านี้มาจากไฟล์ที่คุณพ่อของข้าพเจ้าเขียนไว้ เพื่อบันทึกความทรงจำของตนเองและให้ลูกได้ใช้ในงานวิจัย ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์และให้ความเพลิดเพลินต่อท่านผู้อ่าน ทำให้มองเห็นสภาพพื้นที่หนองคายสมัยก่อนและวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานี้ได้ชัดเจนมากขึ้น จึงได้นำมาเผยแพร่ ซึ่งข้าพเจ้าได้ทำการแบ่งงานเขียนของคุณพ่อออกเป็นหลายตอนด้วยกัน เพื่ออ่านในเวปไซต์ได้ง่าย ความดีอันใดที่เกิดขึ้นจากงานชิ้นนี้ ขอให้กุศลนั้นได้ถึงคุณพ่อให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

….

เล่าเรื่องเมืองหนองคาย 2503 เท่าที่ผมจำได้

ผมชื่อ เด็กชายอนุชาติ อินทรพาณิช อายุ 9 ปี เป็นคนจังหวัดอุดรธานี แต่ด้วยเหตุที่คุณพ่อ รับราชการอยู่จังหวัดหนองคาย เมื่อสอบไล่ชั้นม.1 เสร็จ คุณแม่จะพาไปส่งที่หนองคาย ให้อยู่กับคุณพ่อตลอดช่วงปิดภาคเรียน

ด้วยความหวังว่าจะให้ใกล้ชิดและเรียนรู้เพิ่มเติมจากคุณพ่อ ถ้าขืนอยู่ที่อุดรธานี คงเอาไม่อยู่ เพราะผมมันซน ชนิดลิงเรียกพี่ ไปหนองคายก็เข้าเดือนมีนาคมแล้ว แต่ยังมีลมหนาวหลงมาเป็นช่วงๆ ผมมาเจอหน้าแล้งพอดี บ้านที่คุณพ่อเช่า อยู่บริเวณคุ้มวัดหายโศก ไม่ห่างจากจวนข้าหลวงสักเท่าไหร่ ติดกับหลังโรงเรียน “อนงค์อนุบาล”ที่หยุดกิจการไปก่อนหน้านั้น ราคาค่าเช่าเดือนละ 120 บาท เป็นบ้านไม้หลังใหญ่และเก่ามากๆ ขึ้นบันไดมาเป็นนอกชาน และยกระดับเป็นชานพักใต้หลังคาอีกที ประตูบ้านกว้างมากเป็นสองบาน เปิดบานเดียวก็เข้า ออกสะดวกแล้ว พอพ้นประตูก็เป็นห้องโถงโล่งไปถึงประตูหลังบ้าน สองฟากเป็นห้องนอน คุณพ่อเลือกนอนห้องเล็ก อยู่อีกฟากหนึ่ง ส่วนห้องใหญ่อีกฟากหนึ่งคุณพ่อปิดตายไว้ ผมก็ไม่ทราบเหตุผล หลังบ้านยังมีชานในร่มหลังคาอีกกว้างขวางมาก ยังมีชานแล่นอีกต่างหาก หลังคาบ้านทั้งหลังมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ที่เรียกว่า “ดินขอ” เพราะหัวกระเบื้องมีลักษณะขอเกี่ยว ไว้เกี่ยวกับไม้ระแนง บ้านนี้เป็นสมบัติของ คุณหมออ้วน นาครทรรพ  ถ้าจะอาศัยกันจริงๆ ผมว่าได้เป็น 4-5 ครอบครัวสบายๆ แต่ไม่มีใครอยู่ ตอนคุณพ่อไปอยู่ใหม่ๆ เป็นที่ซุบซิบว่า จะอยู่ได้ถึงคืนมั๊ยน้อ  แต่คุณพ่อก็อยู่ดีสบาย จนผมก็ไปอยู่ด้วยก็ยังสบาย มาทราบทีหลังว่าบ้านหลังนี้ชาวบ้านเขาเรียกว่า “บ้านผีสิง” เล่าว่ามีผู้หญิงคลอดลูกตาย ผมก็ไม่เห็นมีผีมาหลอกสักที เป็นอันว่าผมพรรณนาเรื่องบ้านที่ได้ไปอาศัยตอนปิดภาคเรียนอยู่ 3 ปี มากพอควรแล้ว จะเล่าถึงเมืองหนองคายเสียที

ผมออกเดินทางจากอุดรฯตอนสองโมงเช้า ด้วยรถโดยสาร 4 ล้อ ยี่ห้อ “มอริส” เป็นรถที่มีหน้ารถเป็นแบบหัวตัด ต่อตัวถังเป็นโครงไม้เนื้อแข็ง เหมือนคอกหมู มีหลังคายกขอบกั้นวางสินค้าได้ เครื่องยนต์จะโผล่ข้างในห้องโดยสาร  มีฝาครอบเครื่องยนต์เป็นเหล็ก ถูกดัดแปลงติดเบาะเป็นที่นั่งได้อีก 1 ที่ ผมชอบนั่งตรงนี้ เครื่องมันสั่นสะเทือนก้นสนุกดี  สถานีรถโดยสารอยู่ใต้ร่มโพธิ์ตรงสี่แยกหลังวัดเก่าหรือวัดมัฌชิมาวาส ที่ตรงนั้นเคยเป็นที่ตั้งจวนของเทศาภิบาลมณฑลอุดร  ทางจากอุดรฯมาหนองคายเป็นทางลูกรัง หลุมบ่อหลายแสนหลุม เป็นลอนคลื่น เวลารถโดดคลื่น ใครอ้าปากจะได้ยินเสียงฟันกระทบกันดังกักๆ หัวสั่นหัวคลอนกันทุกคน สถานีจอดกลางทางสถานีแรกที่บ้านนาข่า ระยะทางห่างจากอุดรฯแค่ 14 กม. แต่เวลาเดินทางสองชั่วโมงเศษ ผมว่าถ้าไม่กลัวเหนื่อย จะลงไปวิ่งแข่งรถสักสองสามกิโล คิดว่าคงแซงได้แน่ๆ ไปอีก 15 กม. ก็ถึงจุดพักที่บ้านน้ำสวย ตรงนี้มีคนมาร้องขายของกินอยู่ข้างรถ คนโดยสารจะเอาแขนลอดคอกหมูออกไปเลือกของและจ่ายเงิน คนขายส่วนมากเป็นคนญวนอพยพ สินค้าที่ขาย มีไก่ปิ้งหนีบไม้ทาสีแดงแจ๋ ข้าวเหนียวห่อใบตอง มีแจ่วบองแถมให้ด้วย นอกนั้นมีถั่วลิสงต้ม อ้อยควั่นเสียบพวงไม้ไผ่ ขนมไข่เหี้ย ฯ มีน้ำโอเลี้ยง และน้ำบัวบกใส่น้ำแข็งไสใส่แก้วน้ำ กินเสร็จต้องส่งแก้วคืนสมัยนั้นผมไม่เคยรู้จักถุงพลาสติก เพราะมันยังไม่มี รอเกือบชั่วโมงคนโดยสารกินข้าวแล้ว คนโดยสารใหม่ขึ้นแล้ว จัดของบนหลังคาแล้ว ค่อยออกเดินทางต่อ จากบ้านน้ำสวยไปประมาณ ครึ่งกิโลฯ ตรงหน้าวัดป่ามฤคทายวัน ก็เจอมอดินสูง เสียงเร่งเครื่องยนต์ดังสนั่น สักพักไปไม่ไหว ให้คนลงเดิน เอาตัวรถขึ้นถึงปลายเนิน แล้วค่อยให้คนขึ้น ขับต่อไปอีกสักหนึ่งกิโลฯ ถึงบ้านนาอ่าง เริ่มไต่ระดับเนินสูงที่สุดในเส้นทาง ลงเดินไกลเป็นกิโลฯ จนถึงปลายเนินจะมองเห็นบ้านหนองสองห้อง พอรถไหลลงเนินแบบฟรีๆ มันเร็วมากจนผมใจหายใจคว่ำ ความรู้สึกตอนนั้นว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดในชีวิต

พอถึงบ้านหนองสองห้อง เป็นชุมชนทางแยกไปอำเภอท่าบ่อ มีคนมาก ญวนอพยพเจ้าเก่ามาขายของกินอีกแล้ว “เข่า บ๊อๆ” “เข่าโพดๆ” “อ้อยๆๆ” เสียงดังแล้วดังอีก พูดถึงข้าวโพดที่ต้มมาขาย ชาวบ้านจะปลูกเองที่นี่ เป็นข้าวโพดข้าวเหนียว มีเมล็ดสีขาวมอๆสลับกับสีม่วง ฝักยาวประมาณคืบเศษ ต้มในน้ำเกลือ จะเค็มๆมันๆไม่ค่อยหวาน ขึ้นชื่อว่าอร่อยจนได้ชื่อข้าวโพดพันธุ์นี้ว่า “ข้าวโพดหนองสองห้อง” ช่วงพักรถ รอจนเครื่องยนต์เย็นโชเฟอร์จะมาเปิดครอบเครื่องเช็คสภาพ เครื่องยนต์ เติมน้ำหม้อน้ำ ผมจะมองดูด้วยความสนใจ มันเป็นสิ่งวิเศษจริงๆ เห็นเครื่องแบบโชเฟอร์แล้วเท่เป็นบ้าเลย สวมแสลคสีกรมท่า เสื้อแขนยาวสีเดียวกัน มีหมวกบาร์เลย์ สีเลือดหมู มันประทับใจวัยเด็กของผมจริงๆ ไปมาบ่อยครั้งเข้าจนโชเฟอร์ไม่เก็บตังค์ อ้อค่าโดยสาร ผู้ใหญ่ 5 บาท เด็กครึ่งราคา คุณแม่ให้เงินค่ารถมา ก็เรียบร้อยอ้อยเข้าปากช้าง ไปถึงหนองคายเอาตอนบ่ายโมงเศษ สรุปว่าผมใช้เวลาเดินทางและหยุดพักไป 5 ชั่วโมง ลงจากรถเดินขาถ่างเหมือนคาวบอย เพราะนั่งคร่อมครอบเครื่องยนต์มาค่อนวัน คนโดยสารมองดูหน้ากันแล้วหัวเราะ เพราะเหมือนฝรั่ง หัวแดงกันทุกคน ผมรีบเดินให้ถึงบ้านคุณพ่อเร็วที่สุดเพราะอยากอาบน้ำและสระผม มาถึงบ้านตรงไปปลายชานทันที มีตุ่มน้ำอยู่สองใบ เป็นตุ่มดินเผาแกร่งเป็นหิน รูปทรงสูง สูงเท่าคอผมตอนนั้น เวลาผมจ้วงกระบวยสังกะสี มันจ้วงไม่ถึงต้นโอ่ง น้ำที่ได้มา คุณพ่อซื้อจากรถเข็นขายน้ำ รถหนึ่งมี 10 ปี๊บ รถละ 3 บาท เป็นน้ำสูบขึ้นมาจากแม่น้ำโขง ไม่ผ่านกรองใดๆ แต่ในหน้าร้อนน้ำก็อยู่ในเกณฑ์ใส แต่ต้องเอาสารส้มมาแกว่งในน้ำนั้น สักพักจะตกตะกอน ตักส่วนบนที่ใสไปอาบ ส่วนตะกอนขุ่นที่ก้นโอ่ง ก็ใช้วิธี “ปล้ำโอ่ง” ให้ตะแคงแล้วเทออก ผมอาบน้ำถูตัวด้วยสบู่ “นกแก้ว” สระผมด้วยผง “แฟซ่า” ส่วนซักผ้าใช้ผง “แฟ๊บ” เท่านี้ก็แปลงกายจากฝรั่ง เป็นไทยอีสานคืนคือเก่า  ต่อไปเป็นความจำเรื่องเมืองหนองคาย

เช้าขึ้นมาคุณพ่อให้ผมไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดเหนือชื่อว่า “ตลาดชัยพร” ผมกระเตงตะกร้าหวายสาน เดินขึ้นไปทางเหนือน้ำประมาณ 1 กิโลฯ เป็นตลาดสดมีเนื้อสัตว์ ปลาต่างๆ และอาหารจากทะเล คุณพ่อชอบทานปลาน้ำดอกไม้ นึ่งบ๊วย และขิงฝอย ผมไม่ชอบเพราะมันคาว คุณพ่อจะปรุงอาหารเอง อาหารของท่านเป็นอาหารทางภาคกลาง ทานกับข้าวเจ้า เมนูตอนนั้นยังไม่มีขายตามร้านอาหารทั่วไป อย่างเช่น แกงมัสมั่น  แกงกะหรี่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ฉู่ฉี่ปลา ล้วนแต่เป็นแกงกะทิ ผมมือหงิกตอนคุณพ่อให้ตำน้ำพริก และขูดมะพร้าวด้วยกระต่าย คั้นเอาหัวกะทิแยกไว้ แล้วคั้นหางเป็นน้ำแกงต่างหาก  เวลาคุณพ่อทำกับข้าว ชาวบ้านเดินผ่านได้กลิ่นเครื่องเทศ ก็จะหันหน้าสูดจมูก มองมาที่บ้านเรา ผมถามท่านว่าทำไมพ่อทำอาหารภาคกลางได้ ท่านว่าสมัยเป็นเด็ก ท่านเคยอยู่ในวังเจ้ามาก่อน เห็นแม่ครัวทำอาหาร ท่านมีจิตอาสาช่วยตำน้ำพริกแกงต่างๆ และขูดมะพร้าว คั้นกะทิ มิน่าล่ะอาการนั้นเลยมาลงที่ผม ผมพยายามเรียนรู้จากท่านจนอาหารบางอย่างท่านวางมือให้ผมทำ อย่างไข่ตุ๋น เจียวไข่ ฯ ผมทำได้อร่อยมาก เราอยู่กันสองพ่อลูก ทุกเช้าจะหุงข้าว ทำอาหาร ทานกันประมาณตอนหนึ่งโมง พอโมงครึ่ง คุณพ่อจะแบกจักรยานลงจากบ้าน ขี่ไปทำงานที่ที่ว่าการอำเภอ รถจักรยานสมัยนั้นแพงมาก ต้องเก็บไว้ให้ปลอดภัย เพราะเวลาขโมยลักไป มันถีบเร็วคงไม่มีปัญญาวิ่งไล่มันแน่ บางวันผมจะซ้อนท้ายคุณพ่อไปจนถึงที่ว่าการอำเภอ เพราะที่นั่นมีห้องหนังสือ มีหนังสือไม่มากนัก ผมได้รับอนุญาตเป็นการพิเศษให้ใช้ห้องนี้ได้ ผมชอบหนังสือการ์ตูนซูเปอร์แมน รูปเขียนขาวดำ จำไม่ได้ว่าลงในหนังสืออะไร เป็นตอนๆ แต่มีไม่ครบ ยังสนุกดี พอออกจากห้องหนังสือ ผมจะเดินไปทั่ว ขึ้นไปเหนือเมือง ตรงสถานีรถไฟที่เราเรียกว่า “หัวรถ” ผมจะเดินลงไปริมโขง มองดูเรือกำปั่นหรือแพขนานยนต์ ขนสินค้าข้ามฟากไปประเทศลาว มีรถยนต์จอดบนแพหลายคัน เห็นแล้วผมทึ่งมาก ตรงท่าแพขนานยนต์ มองไปทางเหนือน้ำและท้ายน้ำ ผมเห็นตลิ่งลาดลงไปจดชายแม่น้ำ ชาวบ้านขุดตลิ่งเป็นขั้นบันได ทำแปลงปลูกผัก พืชสวนครัว และยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย เห็นเป็นสีเขียวสุดสายตา ดินตะกอนสีเทาดำมีทรายปน จึงไม่แน่น ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย ถ้ามีการใส่ก็คงเป็นขี้ไก่ ขี้หมู ไม่เคยเห็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์ แต่คนทำสวนริมตลิ่งนี้ต้องขยันและลำบากที่ต้องเดินลงไปหาน้ำ ตักน้ำในแม่น้ำหาบขึ้นมารดต้นพืช  พืชผักเหล่านี้ เลี้ยงคนหนองคายทั้งเมืองได้สบาย ที่ชายน้ำจะมองเห็นหลักไม้ปักไว้มากมาย เป็นหลักผูกโยงเรือ มีเรือมากมายหลายชนิด อย่างเช่น เรือแจว เรือขุด เรือโดยสารติดเครื่องยนต์ เรือกระแซง ส่วนเรือแข่งหลายสิบฝีพาย จะเก็บไว้ในอู่เรือของวัดประจำคุ้ม อ้อ คนหนองคาย เขาปวารณาตัวเป็นคนของคุ้มวัดนั้น วัดนี้ การทำบุญบริจาค ส่วนมากจะกระทำที่วัดคุ้มของตัวเอง บ้านคุณพ่อผมอยู่ ระหว่างกึ่งกลาง ของวัดหายโศกกับวัดศรีชมชื่น ผมเลยกินแดนได้ทั้งสองคุ้ม

ด้วยเหตุที่ว่าผมเป็นเด็กซน เลยมีเพื่อนฝูงบริวารเยอะ วิธีการหาเพื่อนก็ไม่ยาก วันหนึ่งลมหนาวหลงมาอีก ได้ความคิดบรรเจิด ผมไปตัดเอาตอไม้ไผ่บ้านหรือไผ่เลี้ยงมาสามปล้อง เอามีดโต้ผ่าปล้องไม้ไผ่ตลอดความยาว ทำเป็นซี่เล็กเท่านิ้วมือ จากนั้นเหลาให้กลม ทำเป็นโครงว่าว “อีลุ้ม” คือเป็นว่าวไม่มีหูไม่มีหาง  ผมเอาเชือกว่าวผูกโยงไว้หน้าบ้าน สองสามวันต่อมา มีเด็กรุ่นเดียวกันกับผมมาถามว่า

“เจ้าเฮ็ดหยัง  เฮ็ดวาวบ้อ”  (เจ้าทำอะไร ทำว่าวหรอ)

ผมตอบว่า “แมนแล่ว”        (ใช่แล้ว)

ถามผมต่อว่า “โดนปานได๋สิแล่ว”    (นานขนาดไหนจะเสร็จ)

ผมถามคืนว่า “ เป็นหยังล่ะ”   (ทำไมล่ะ)

ตอบผมว่า “เจ้าเฮ็ดแล้วพวกข่อยสิมาแฮวาวไปปอยนำเจ้า”  (เจ้าทำแล้วพวกข้าจะมาแห่ว่าวไปปล่อยด้วยกันกับเจ้า)

ผมว่า “ยังไม่ได้ติดกระดาษว่าวกับโครง เพราะข้อยบ่อมีเงินซื้อกระดาษ” (ยังไม่ได้ติดกระดาษว่าวกับโครง เพราะข้าไม่มีเงินซื้อกระดาษ)

บ่ายวันนั้นมีสปอนเซอร์มาหลายคน ได้เงินมา 4 บาท ให้เพื่อนไปซื้อกระดาษว่าวมา ระบุว่าสีแดง แผ่นละสลึง เอามา 3 แผ่น ที่เหลือเป็นค่าด้ายรัง 6 ได้มา 3 ปอย ทำเป็นเชือกว่าว พันเรียงเส้นกับกระป๋องนม ตรา “แหม่มทูนหัว”ได้ 3 กระป๋อง ความยาวประมาณ 100 เมตรต่อกระป๋อง โดยเวลาว่าวขึ้นฟ้าจะต่อทีละ 100 เมตร เชือกจะได้ไม่พันกันยุ่งยาก ได้กระดาษมาแล้ว ทำแป้งเปียกโดยเอา “แป้งมันสิงคโปร์” ละลายน้ำแล้วตั้งไฟ กวนไปจนแป้งสุก มีสีใส กวนจนข้น แล้วใช้ได้ เอาไปทากระดาษต่อทาบกันเป็นแผ่นเดียว เอาโครงว่าวทาบวัด แล้วตัดตามรูปโครง ให้กระดาษใหญ่กว่าโครงประมาณ 1 ซม.โดยรอบ จากนั้นเอากาวทากระดาษแล้วพับกระดาษให้ติดกับโครงไม้ไผ่ ทำรอบตัวว่าว จนเสร็จ จากนั้นจะเอาเชือกผูกกับแกนกลางของโครง ทำเป็นเชือกอก ยกขึ้นทำมุมกินลม แล้วกำหนดจุดผูกเชือก เป็นอันเสร็จ จากนั้นขอแรงสมาชิกเก็บกวาดทำสะอาด ดูบ้านสะอาดตามปกติ แล้วไล่สมาชิกกลับบ้านไป  ก่อนคุณพ่อเลิกงานจะกลับมาถึงบ้าน  ผมเอาว่าวไปซ่อนไว้ไม่ให้ท่านเห็น ท่านเลยไม่รู้ว่าผมมีกิจกรรมซ่อนเร้น ก็คนซนมันก็เป็นอย่างนี้แหละ

หลังจากนั้นแทบทุกวันจะมีสมาชิกมาถามว่า เมื่อไหร่จะเอาว่าวขึ้น ผมตอบว่ารอโอกาสเหมาะก่อน หลายวันมานี้คุณพ่อยุ่งมาก  กลางวันไปทำงานปกติ กลางคืนต้องออกตระเวน ตรวจจุดเฝ้าระวังทั้งเมือง เพราะตอนนั้นที่ประเทศลาว เกิดการปฏิวัติโดยสิบเอกกองแล มีลูกปืนข้ามแม่โขงมาหลายจุด ฝั่งหนองคายต้องพรางไฟ ทีนี้บ้านก็น่ากลัวมากยิ่งขึ้น หลังจากเหตุการณ์คลี่คลาย สิบเอกกองแลให้ยศตัวเองเป็นนายพลกองแล หน้าตาเฉย

ผมรอจังหวะนี้บอกข่าวว่าจะเอาว่าวขึ้นพรุ่งนี้ตอนสายๆ ใครจะไปด้วยให้รีบกินข้าวเช้า เอาน้ำดื่มใส่กระป๋องไปด้วย พอคุณพ่อไปทำงาน ขบวนการก็เริ่ม ผมแบกว่าวโดยเอาไว้ข้างหลัง เอาเชือกอกสะพายไป ว่าวสีแดงสวยสะดุดตา ที่แปลกกว่าเขาคือมันไม่มีหาง ไม่มีหู สมาชิกเดินเรียงหนึ่ง เลาะไปตามทางเดินแคบๆ มุดใต้ถุนบ้านโน้นบ้านนี้ไป ผ่านวัดศรีชมชื่น เห็นคนญวนกำลังทุบไม้ไผ่เฮี๊ยะ คนหนองคายเรียก “ไม้เหี้ย” ทำเครื่องจักสาน “เสื่อลำแพน” ใช้ทำบ้าน โดยทำเป็นฝาบ้าน หรือเพดาน หนองคายเรียก “ฝาไม้ขัดแตะ” ทราบว่ามาเช่าบริเวณลานวัดเป็นที่ทำงาน มองไปไหนเห็นลำไม้ไผ่ชันพิงกับกิ่งมะขามหวานต้นใหญ่หลายต้น มะขามหวานวัดศรีชมชื่น สมัยนั้นล่ำลือกันว่าหวานสุดๆ มีสัมปทานเก็บทุกปี วัดได้ตังค์ แต่พวกผมได้ชิมฟรี ลูกไหนกระเด็นไกล เป็นเสร็จพวกเรา มันหวานอร่อย แต่จำไม่ได้ว่าหวานเท่าพันธุ์ศรีชมพู หรือสีทองในปัจจุบันหรือไม่ แต่ก็หวานจริงๆ

จากนั้นเราลัดเลาะไปตามทุ่งนา ทางทิศตะวันออกของเมือง บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ทำนาข้าว เรียกว่า “ทุ่งสว่าง” มีวัดทุ่งสว่างอยู่กลางทุ่ง ถัดออกไปทางทิศตะวันออก มองเห็นโบสถ์วัดโพธิ์ชัย หรือวัดหลวงพ่อพระใส อยู่ไม่ไกล

สายวันนั้นมีลมพัดข้างล่างเบาๆ แต่ลมบนแรงพอควร ผมสังเกตจากว่าวตัวเล็ก ที่ลูกคนญวนเอามาปล่อย เป็นว่าวมีหูแต่ไม่มีหาง หูมันพลิ้วลมโฉบไปมา  ผมให้พวกถือว่าวใหญ่ตั้งขวางลมไว้  ส่วนตัวผมเดินไปเหนือลมไกลพอสมควร พอได้โอกาสลมมาผมตะโกนบอกให้ปล่อย มือผมดึงเชือกเข้าหาตัว ว่าวก็พุ่งขึ้นทันที หนักมือมากๆเพราะมันเป็นว่าวใหญ่ที่สุดที่ผมเคยทำ พอ 100 เมตรหมด ผมก็ต่อ 100 เมตร ที่ 2 และที่ 3 รวมแล้ว ประมาณ 300 เมตร ว่าวขึ้นถึงลมบน พวกๆเฮกันสนุกสนาน ผมได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหน้า แล้วพวกๆก็เรียกผมว่า “หัวหน้า” มาตลอดหลายปี จนคุณพ่อผมย้ายจากหนองคาย กิจกรรมว่าวนี้ผมว่ามันดีจริงๆ

.. (อ่านต่อ ตอน 2)

 

ผู้เขียน : อนุชาติ อินทรพาณิช , เขียนประมาณช่วงปี พ.ศ.2556-2557

บรรณาธิการ : สุทธวรรณ บีเวอ

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *