ศิลปะโดยรอบศาลาโพธิสาร 72 วัดโพธิ์บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ศิลปะโดยรอบศาลาโพธิสาร 72 วัดโพธิ์บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น

คณะผู้จัดทำได้รับความเมตตาจาก หลวงตาเกรียง หรือ พระมหาเกรียงศักดิ์ โสภากุล ดร. (ธรรมวิจาโร) ผู้เสียสละเวลาเป็นอย่างสูงในการอธิบายความหมายที่แฝงอยู่ในงานศิลปะและพระธรรมที่ซ่อนอยู่ในภาพเหล่านี้ และได้รับความเมตตาจาก หลวงตาปริศนา ผู้มอบหนังสือ “ไขปริศนาธรรม ภาพศาลาโพธิสาร 72” ของ พระครูภาวนาโพธิคุณ, ดร. (สมชาย กนฺตสีโล) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน รวมถึงความรู้ที่ได้จากหนังสือ “ประวัติหลวงปู่โพธิ์” นับว่ามีคุณูปการต่อการอธิบายความหมายของศิลปะที่ปรากฏอยู่บริเวณภายนอกอาคารแห่งนี้ สำหรับศิลปินผู้ที่สร้างงานจากปรัชญาธรรมะโดยรอบอาคาร ได้แก่ ธรรมรงค์ แก้วโบราณ สมบูรณ์ สำแดง และ ทวีศักดิ์ พรหมรัตน์ สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเป็นภาษาอังกฤษ English version ได้ที่ ที่ Tim’s Thailand blog

สามารถดาวน์โหลดไฟล์สำหรับการพิมพ์เป็นหนังสือ (download file) ที่นี่ wat-po-nontan-meditatioin-hall-art-booklet

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน หลวงตาเกรียง
พระมหาเกรียงศักดิ์ โสภากุล ดร. (ธรรมวิจาโร) หลวงตาเกรียง

บทนำ

ไม่มีผู้ใดทราบว่าวัดโพธิ์บ้านโนนทันตั้งขึ้นเมื่อใด อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังเป็นวัดโบราณมาก่อน จากหลักฐานเมื่อคราวกรุวัดแตกและพบโบราณวัตถุเป็นพระพิมพ์ดินเผาอยู่มากมาย มีผู้สันนิษฐานว่าวัดได้มีการบูรณะปี พ.ศ.2332 ในสมัยแรกเริ่มก่อตั้งเมืองขอนแก่น วัดนี้ตั้งอยู่อีกฝั่งของบึงแก่นนครในเขตชานเมือง บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำบึงแก่นนครท่วมถึง กว่าหกสิบปีที่ผ่านมามีบ้านเรือนผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ภายในวัดยังเหลือต้นไม้เก่าแก่อยู่หลายต้นเพราะวัดอนุรักษ์ ทำให้วัดมีความร่มรื่น ใกล้ประตูหลักทิศตะวันออกมีรูปปั้นสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวัดโพธิ์บ้านโนนทัน นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจในวัดยังมี “อาคารโพธิสารคุณ” เป็นอาคารที่ประดับประดาด้วยรูปปั้นคอนกรีตสีสันสดใสอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด

วัดโพธิ์บ้านโนนทันนั้นเป็นที่รู้จักในด้านวิปัสสนา “อาคารโพธิสารคุณ” ได้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ในปี พ.ศ.2514 ตัวอาคารได้ถูกออกแบบให้เหมือนถ้ำที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ท่ามกลางดงป่านั้นได้มีภาพวาดและรูปปั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนจากคนรุ่นก่อนไปยังคนรุ่นใหม่ ทั้ง วิถีแบบโบราณ สุภาษิต คำสอนพุทธศาสนา ภาพประวัติศาสตร์ และเพิ่มสีสันธรรมชาติผนวกเอาความสนุกสนานจากภาพวาดและรูปปูนปั้นที่ปรากฏ นอกจากนี้ยังมีภาพวาด 3 ภาพ ที่ปรากฏเรื่องเล่าของผู้เป็นต้นคิดอาคารแห่งนี้ คือ หลวงปู่โพธิ์(หลวงปู่พระครูโพธิสารคุณ) พระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ซึ่งได้รับความเคารพจากศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ทำให้อาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลาโพธิสาร 72 โดย 72 เป็นอายุของหลวงปู่ตอนที่ท่านมรณภาพ ปัจจุบันร่างของท่านได้บรรจุอยู่ที่ฐานของพระพุทธใหญ่ชั้นบนสุดของอาคารแห่งนี้

วัดโพธิ์้บ้านโนนทัน อาคารโพธิสารคุณ ผญา อีสาน คำสอน ขอนแก่น

 

แผนที่ศิลปะโดยรอบอาคารโพธิสารคุณ วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น อาคารโพธิสารคุณ ศิลปะ ผญา อีสาน คำสอน

ศิลปะส่วนใหญ่ของผนังโดยรอบอาคารจะมีการเขียนกำกับภาพเป็นผญาภาษาอีสานไว้ และผู้สนใจบางท่านอาจไม่เข้าใจความหมายของคำ ทางคณะผู้จัดทำจึงทำการแปลเป็นภาษาไทยกลางโดยทำเป็นอักษรตัวหนา และอธิบายความหมายเพิ่มเติมด้านล่างนี้

ทางเข้าด้านหน้า / Front Entrance

ผญาอีสาน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น

งานศิลปะเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตของหลวงปู่โพธิ์ เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปจำพรรษาในป่าเพื่อบำเพ็ญภาวนาอยู่บ่อยครั้ง ด้านหน้าอาคารจำลองปากทางเข้าถ้ำ และก่อนที่จะถึงถ้ำที่เหมาะแก่การวิปัสสนา พระสงฆ์จำเป็นต้องเดินผ่านป่าเปลี่ยวที่เต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ป่าและอื่นๆ ดังนั้นการเดินมาถึงถ้ำได้ จึงหมายถึงการพิชิตความยากลำบากไปแล้วขั้นหนึ่ง ภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับธรรมชาตินี้ทอดยาวไปตลอดจนรอบตัวอาคาร ปัจจุบันมีทั้ง นก ค้างคาว และ ต่อ มาทำรังอยู่ตามบริเวณต่างๆของรูปปูนปั้น ทำให้ป่าเสมือนจริงมากขึ้น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำคม

ผนังด้านนอก / Outer Wall

งูกินกบ กบกินงู
เมื่อใดที่เราทำสิ่งที่ไม่ดีต่อผู้อื่น ชาติต่อไปก็อาจได้รับผลกรรมแบบเดียวกับที่เราทำกับเขา อุปมาเช่น ถ้างูกินกบในชาติที่แล้ว กบตัวนั้นมาเกิดเป็นงู ก็วนมากินงูที่มาเกิดเป็นกบ จึงเป็นเหตุของวัฏสงสารที่เกิดชั่วนิรันดร์ เว้นเสียแต่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะหยุดแก้แค้น ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา ให้คิดเพียงว่า “ไม่เป็นไร” และปล่อยให้มันผ่านไป วิธีนี้จะช่วยให้เราจะหลุดพ้นจากกงกรรมกงเกวียน

ผญาอีสาน คำสอน กบกินงู วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น
ภาพ A1 “งูกินกบ กบกินงู”

นาคกินปลาไปติดคอแร้ง เรือติดแก่งไปจมกลางหนอง
เมื่อตัวเองทำสิ่งที่ไม่ดี ผลเสียไม่ใช่เกิดแค่กับตัวเองเท่านั้น แต่กระทบถึงผู้อื่นด้วย เช่น เด็กนักเรียนคนหนึ่งทำผิด โดนครูลงโทษที่โรงเรียน แต่ต่อมาพ่อแม่ต้องมานั่งทุกข์เรื่องของลูก เพราะเมื่อเพื่อนบ้านรู้ข่าวก็พากันคิดว่าพ่อแม่เด็กไม่ดีไปด้วย หรือ พนักงานบางคนบริการไม่ดีกับลูกค้าที่มาใช้บริการ พอคนที่อยากมาใช้บริการรู้ ก็คิดว่าร้านคงไม่ดีไปเสียทั้งหมด พากันไปร้านอื่นแทน ในที่สุดพาให้ธุรกิจล้มได้ง่ายเช่นกัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน นาคกินปลา
ภาพ A2   “นาคกินปลาไปคาคอแฮ้ง เฮือคาแก้งไปหล่มเคิงวัง”

แมงเม่าถึงจะบินอยู่บนฟ้า แต่ไม่พ้นปากอึ่งอ่าง
คนเราหนีกรรมไม่พ้น เตือนสติไม่ให้หลงมัวเมากับสิ่งที่มีหรือที่เป็น ให้คิดถึงความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน อุปมาเหมือนดั่งแมงเม่า แม้บินสูงเพียงใด ในท้ายสุดก็ไม่พ้นปากอึ่งอ่าง ก็คือ ความแก่ชรา ความเจ็บป่วย และความตาย

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น แมงเม่่า ปากอึ่ง
ภาพ A 3   “แมงเม่าบินอยู่ฟ้า บ่มีม้มปากอึ่งยาง”

อย่าแงะขอนไม้หาตะขาบ
อย่าเอาความผิดพลาดในอดีตมาพูดทับถมให้กัน ดั่งเช่น อย่าพยายามแงะขอนไม้เพื่อหาตะขาบ(ขอนไม้ก็คือปัจจุบัน ตะขาบก็คือการมองหาอดีต) เพราะนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังมีแต่จะทวีความโกรธแค้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังพุทธวจนที่ว่า “วาจาที่มาจากความโกรธ คือ อาวุธร้ายแรงที่สุด”

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ผญาอีสาน คำสอน ไง่
ภาพ A4   “อย่าไง่ขอนหาขี่เข็บ”

ขอนแก่นยุคดึกดำบรรพ์กับไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ

คำสอน ผญาอีสาน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น
ภาพ A5   ยุคไดโนเสาร์

วิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตช่วงลงนา เป็นช่วงกำลังทำนาปลูกข้าวในต้นฤดูฝนซึ่งปกติจะอยู่ประมาณเดือนพฤษภาคม ผู้หญิงหาบตะกร้าไปนา หากมีลูกเล็กก็จะมักหาบลูกใส่ตะกร้าไว้ข้างหนึ่ง อีกข้างมีเครื่องครัวสำหรับทำอาหารกินกันตอนเที่ยง เด็กโตหน่อยก็วิ่งตามแม่มา ไม่ค่อยใส่เสื้อผ้า เป็นเรื่องปกติ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน นา
ภาพ A6   แม่ใหญ่หาบกะต่า(ตะกร้า)ไปนา

ภาพระลึกถึงหลวงปู่โพธิ์ เมื่อคราวออกธุดงค์ในป่าใหญ่หลายแห่ง และมีศิษยานุศิษย์ไปกราบหลวงปู่ในป่า จากภาพจะสังเกตเห็นว่าหลวงปู่โพธิ์ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดจนไม่สนใจอัตภาพร่างกายของตน ทำให้ร่างกายซูบผอมหนวดเครายาวรุงรัง หลวงพ่อพระสารธรรมมุนีเจ้าคณะขอนแก่นในเวลานั้น จึงเรียกท่านว่าพระอาจารย์แขก

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หลวงปู่โพธิ์
ภาพ A7   ศิษยานุศิษย์มาเฝ้าฟังธรรมจากหลวงปู่โพธิ์

ประวัติท่านตอนหนึ่งกล่าวถึง เมื่อคราวที่ท่านปลีกวิเวกกลางป่าหนหนึ่ง ท่านปักกลดอยู่ใกล้กับจอมปลวก ในกลางดึกคืนนั้นปรากฏมีปลวกจำนวนมากเข้ามาล้อมรอบกลดท่าน ทีแรกท่านนึกว่าเป็นงูขึ้นรอบกลดดำมืดไปหมด พอท่านเปิดกลดออกมาดูก็เห็นกองทัพปลวกกำลังเดินวนรอบกลดของท่าน บางส่วนก็เดินอยู่ใต้กลดเยอะมากจนท่านได้ยินเสียงเดินของปลวก แต่สุดท้ายพวกมันก็จากไปโดยมิได้มารบกวนแต่อย่างใดเพราะว่าท่านได้แผ่เมตตาให้กับปลวกเหล่านั้น

วัดโพธิ์้บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หลวงปู่โพธิ์
ภาพ A8   หลวงปู่โพธิ์ออกธุดงค์ในป่า

วิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตช่วงเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้ง เป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ชาวบ้านมีงานหลายอย่างที่ต้องทำ เช่น ภายหลังเกี่ยวข้าวแล้ว ก็จะ “ตีข้าว” เพื่อให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง โดยใช้ “ไม้ตีข้าว” หรือ “ไม้นวดข้าว” ที่ทำจากไม้กระบองสองอัน แต่ละอันจะมัดติดกับปลายเชือกทั้งสองด้าน เวลาตีก็ตวัดเอาต้นข้าวไว้ด้านในไขว้ไม้แล้วดึงเชือกให้แน่น ใช้สองมือจับไม้ตีข้าวเหวี่ยงฟาดข้าวลงกับพื้นแรงๆ หรือจะใช้วิธีวางรวงข้าวไว้กับพื้นและใช้ไม้ฟาดรวงข้าวก็ได้ “ข้าวเปลือก”ก็จะหลุดออกมา จากนั้นจะนำไปเก็บไว้ในโรงไม้ยกสูง ซึ่งเรียกว่า “ยุ้งข้าว” หากจะหุงข้าวกิน ต้องนำข้าวเปลือกไปตำในครกกระเดื่อง เพื่อกะเทาะเปลือกแข็งด้านนอกแตกและหลุดออกจากเมล็ดข้าว แล้วนำมาแยกเปลือกออก ด้วยการ “ฝัดข้าว” คือเอาข้าวที่ตำได้นั้นมาใส่กระด้ง แล้วฝัดขึ้นลงคือจับกระด้งโยนเขย่าไปมาแล้วเป่าแรงๆ เพื่อให้เปลือกข้าวปลิวตกไปจนกว่าจะหมด และเก็บสิ่งแปลกปลอม เช่น เมล็ดดอกหญ้า หินเล็กๆ มอด ฯลฯ ออกให้หมด ก่อนนำมานึ่งข้าว

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา คำสอน อีสาน เกี่ยวข้าว
ภาพ A9   ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

ประเพณีลงข่วงและฟ้อนเตี้ยโนนทัน
ในอดีตชาวอีสานจะมาทำกิจกรรมร่วมกันอยู่รอบกองไฟลานบ้านในยามกลางคืน หรือเรียกอีกอย่างว่า การลงข่วง มีกิจกรรมบันเทิง เช่น การลำกลอน ฟ้อนเตี้ย บ้างก็ทำของกินเล่น เช่น มันเผา เม็ดมะขามคั่ว ข้าวจี่ สาวๆ ก็จะเอางานมาทำด้วยกัน เช่น เข็นฝ้าย ปั่นด้าย ทำเส้นกกสำหรับทอเสื่อ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันโดยอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ กิจกรรมเสร็จประมาณสี่ห้าทุ่ม ถ้าหนุ่มคนไหนชอบสาวคนไหนก็ไปส่งไปนั่งคุยกันต่อบนลานบ้าน สำหรับฟ้อนเตี้ยโนนทัน เป็นการละเล่นในค่ำคืนที่มีการลงข่วง เป็นลำกลอนอีสานตอบโต้กันไปมาของฝ่ายชายฝ่ายหญิง มีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะอย่างสนุกสนาน ปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ชุมชนพยายามจะอนุรักษ์เอาไว้ สามารถชมฟ้อนเตี้ยโนนทันได้ในวันสงกรานต์ ซึ่งจัดขึ้นที่วัดโพธิ์บ้านโนนทันทุกปี

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ลงข่วง ฟ้อนเตี้ย
ภาพ A10   “ประเพณีลงข่วงและฟ้อนเตี้ยโนนทัน”

เต่าแบกคัมภีร์
คนที่มีความรู้หรือของดีอยู่ในตัว แต่กลับไม่ใช้หรือมองไม่เห็นคุณค่า ก็เหมือนดั่งเช่นเต่าแบกหนังสือบนหลัง นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังหนักอีกด้วย

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เต่าแบกคำภีร์
ภาพ A11   “เต่าแบกคำภีร์”

มือถือสาก ปากถือศีล
คนที่มีคุณธรรม อยู่ที่การทำดีทั้งกาย วาจา และใจ หาใช่เพียงภาพลักษณ์ภายนอกหรือคำพูดที่ดูน่าเชื่อถือไม่ อุปมาดั่ง หญิงชราสวมเสื้อขาวบริสุทธิ์ ดูเป็นคนธรรมะธัมโม ปากว่าถือศีล 5 แต่กลับฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยไม่กลัวบาป

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน มือถือสาก
ภาพ A12   “มือถือสาก ปากถือศีล”

ไม้ค้ำกล้วย กล้วยค้ำไม้
ทั้งไม้และต้นกล้วยต่างค้ำกันและกัน ทั้งสองจึงตั้งอยู่ได้ สอนถึงความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน กล้วย
ภาพ A13   “ไม่ค่ำกล้วย กล้วยค่ำไม่”

กินคือปาก หิวคือท้อง เทียวไปขี้บ่อยๆ คือขา
ความอยากเกิดจากทวารทั้ง 3 คือ ตา(ทำให้อยากกิน เพราะอาหารดูน่าอร่อย) จมูก (กลิ่นของอาหารยั่วยวนให้หิว) และหู(ได้ยินมาว่าอาหารนั้นมีรสชาติอร่อย) แต่เมื่อลิ้นได้สัมผัสกับอาหาร บ่อยครั้งจะทำให้เรารู้ว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นทั้งไม่อร่อยและไม่มีประโยชน์ หรือ เราลืมไปว่าอาหารที่ไม่ดีก็ทำให้ท้องเสียได้ ดังนั้นอย่าให้ความอยากชักจูงตัวเรา ควรพิจารณาทุกสิ่งให้มีสติแม้แต่เรื่องการกิน เมื่อเรามีสติก็จะสามารถเลือกสิ่งดีให้กับชีวิตได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน กิน ปาก ท้อง
ภาพ A14   “กินแมนปาก อยากแมนท้อง เทียวขี่แมนขา”

เสือก็ว่าตัวเองดี หมีก็ว่าตัวเองอาจหาญ เก้ง(ฟาน)ก็ว่าตัวเองใจกล้า ม้าก็ว่าตัวเองวิ่งเร็วมาก
เสือ หมี เก้ง และม้า ทั้งหมดต่างก็คิดว่าตนเองเก่งมากและเหนือกว่าผู้อื่น แต่ท้ายสุดชีวิตไม่แตกต่างกัน เพราะต่างหนีความตายไปไม่พ้น ดังนั้นอย่าดูถูกผู้อื่น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เสือ ฟาน ม้า
ภาพ A15   “เสือกะว่าเสือดี หมีกะว่าหมีหาญ ฟานกะว่าฟานกล้า ม้ากะว่าม้าแลนหัน”

เสียงดังคือกระดิ่ง ท้องอิ่มคือควาย
ความหมายคือ คนหนึ่งทำแต่อีกคนกลับได้ดี ดั่งเช่น ในขณะที่ควายกำลังกินหญ้า กระดิ่งที่ห้อยคอควายอยู่นั้นพอสั่นไหวก็เกิดเสียงดังก้องกังวาน คล้ายกับว่ากระดิ่งนั้นมีส่วนทำให้ควายอิ่ม ประกาศให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าตนมีความสำคัญต่อควาย แต่แท้จริงแล้วไม่ได้ทำสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้แก่ควายเลย ส่วนหญ้าคือสิ่งที่ทำให้ควายอิ่มท้องและเป็นผู้มีประโยชน์ต่อควายอย่างแท้จริง

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน ควาย
ภาพ A16   “ดังแมนขอ อิ่มท้องแมนควาย”

ทำให้สุด ขุดให้ถึง
การเรียนหรือทำอะไร ให้ทำจนถึงที่สุดถึงแม้ว่ามันจะยากลำบากแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากกินมะม่วง ถ้าเอื้อมไม่ถึงก็อย่าไปโทษที่แขนมันสั้น แต่ต้องหาไม้มาสอย อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ถ้าเอาแขนแหย่ลงไปในรู แต่ก็ยังไม่ถึงก้นหลุมสักที ก็ให้ลองเอาเสียมขุดลงไปก็จะถึง อย่าทำตัวเหมือนกบในกะลาที่คิดว่าตนเองดีที่สุด ให้พยายามคิดหาวิธีแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อให้งานออกมาสำเร็จ และพยายามทำจนกว่าจะถึงเป้าหมายที่วางไว้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เฮ็ดให้สุด
ภาพ A17   “เฮ็ดให้สุด ขุดให้เถิง”

ตาบอดจูงตาบอด ตาดีจูงตาบอด ตาดีจูงตาดี
คนตาบอด หมายถึง คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้นการที่คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดด้วยกันจึงไม่ได้เป็นการช่วยอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนตาดีนำทางคนตาดี(หมายถึงคนที่มีประสบการณ์แล้ว)ก็ไม่ส่งผลดีอะไรเช่นกัน จะได้ประโยชน์คือคนที่มีประสบการณ์ควรช่วยเหลือคนที่ขาดประสบการณ์ และคนที่ไม่มีประสบการณ์ก็ต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ ขอคำแนะนำ จากผู้มีประสบการณ์

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ตาบอดจูงตาบอด
ภาพ A18   “ตาบอดจูงตาบอด ตาดีจูงตาบอด ตาดีจูงตาดี”

หาบช้างให้เท่ากับแมว
คนเราจะหาบช้างกับแมวให้เท่ากันได้อย่างไร อาจอธิบายตามสองความหมาย ดังนี้ ความหมายแรก ท่านกล่าวถึงบุญและบาป น้ำหนักช้างเปรียบดั่งบุญ ทำมากขนาดไหนก็ไม่หนัก แม้ช้างตัวโตแต่กลับมีน้ำหนักเท่ากับแมว ก็คือ ความเบาสบายของใจ ในขณะที่หากทำบาป เปรียบดั่งน้ำหนักของแมวแม้เพียงนิดเดียวแต่ความทุกข์ร้อนกลับหนักเท่ากับน้ำหนักของช้างตัวใหญ่เลยทีเดียว
ความหมายที่สอง หากเปรียบว่า ช้าง หมายถึง รูป และ แมว หมายถึง นาม ถ้าแสวงหาแต่รูป ไม่สนใจความดี ช้างก็จะหนักกว่าแมวหรือเป็นวัตถุนิยมสุดโต่ง ขณะเดียวกันหากถือความคิดตนเป็นใหญ่ แมวก็หนักกว่าช้าง การหาบสิ่งของที่ไม่สมดุลกัน คนหาบหรือตัวเองก็เดินต่อไปได้ยากไม่สบายนัก แต่เมื่อแสวงหาเพียงปัจจัย 4 อย่างเหมาะสม มีสัมมาอาชีวะ ไม่เบียดเบียนเดือดร้อนผู้อื่น เหลือก็จุนเจือให้ผู้อื่น เป็นทั้งผู้มีปัญญาและความเพียร มีสติสมาธิแน่วแน่ ถ้าทำได้อย่างนี้ ร่างกายและจิตใจก็จะเกิดสมดุล เกิดพอเพียงเป็นทางสายกลาง น้ำหนักช้างก็จะเท่ากับแมว หาบได้สบาย เดินทางต่อไปได้สะดวก

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หาบ แมว
ภาพ A19   “หาบซ่างซาแมว”

มีทางอยู่สองเส้นให้เลือกเดิน ชอบเส้นบนหรือเส้นล่าง ก็แล้วแต่จะเลือก
เราต่างเติบโตมาด้วยคำสอนที่ว่าให้ทำแต่สิ่งที่ดี แต่เมื่อเราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ ก็ไม่มีใครที่จะมาบังคับตัวเราได้ แต่ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหน ต่างก็มีผลกรรมนั้นก็รอเราอยู่เบื้องหน้าแล้ว

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน สองเส้น ทาง
ภาพ A20   “ทางสองเส้นตามใจสิเทียวไต่ มักเส้นเทิงเส้นใต้ ตามใจเจ้าแต่สิเทียว”

ถ้าหากทำตัวเป็นคนไม่ดี ตายไปก็กลายเป็นเปรต ผีเหล่านี้ได้รับความทุกข์เพราะโหยหาอาหารและส่วนบุญจากคนที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เปรต
ภาพ A21   เปรต

เรือติดแก่ง เกวียนยังได้ใช้ขนเรือ พอมาถึงที่มีน้ำ เรือยังได้ใช้ขนเกวียน
อย่าประมาทหรือดูแคลนคุณค่าผู้อื่น เพียงเพราะยังไม่ถึงเวลาที่พอเกื้อกูลกันได้ ดังนั้นควรมีน้ำใจต่อกัน เพราะสักวันหนึ่งอาจต้องได้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน เกวียน
ภาพ A22   “เฮือคาแก้ง เกวียนยังสิได้แก่ บาดว่ามาฮอดน้ำ เฮือสิได้แก่เกวียน”

หนูเต็มบ้านถึงเห็นบุญคุณแมว มีลูกได้แขวนเอวจึงเห็นบุญคุณพ่อแม่
เราจะรู้คุณค่าของสิ่งใด ก็ต่อเมื่อขาดสิ่งนั้นไป หรือจะเห็นคุณค่าของคนอื่นก็ต่อเมื่อต้องเผชิญกับปัญหานั้นด้วยตนเอง

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หนูเต็มบ้าน
ภาพ A23   “หนูเต็มบ้านจั่งเห็นคุณแมว ลูกแขวนแอวจั่งเห็นคุณพ่อแม่”

ขุดเรือไว้เพื่อใช้ข้ามฟาก เก็บครั่งไว้เพื่อย้อมเส้นไหม
ให้เตรียมตัวก่อนจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ถ้าไม่มีเรือเราก็ต้องลำบากเมื่อน้ำท่วม ถ้าไม่เก็บครั่งไว้ ก็ไม่มีสีจะย้อมผ้า การที่เรารู้จักวางแผนอย่างรอบคอบหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้าจะทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ขุดเฮือไว้
ภาพ A24   “ขุดเฮือไว้ประสงค์พายข่วมฝั่ง เก็บครั่งไว้ประสงค์ย้อมเครื่องไหม”

ถ้าจะเดินทางเวิ้งหรือที่โล่งให้เอาร่มไปด้วย ถ้าจะเดินทางไกลให้เตรียมผ้าคาดเอวที่ใส่เงินและถุงย่ามไปด้วย
ในการทำสิ่งใด ถ้าเตรียมการวางแผนล่วงหน้า จะทำให้เราแทบไม่เจอกับปัญหา เหมือนการพกร่มไปด้วยเวลาเดินทาง เมื่อมีฝนมีแดดแรงก็ยังพอรับมือได้ และนอกเหนือจากทุกคนต่างรู้ที่จะเตรียมสิ่งต่างๆ ให้พร้อมในการดำรงชีพแล้ว ควรที่จะระลึกไว้เสมอว่าควรเตรียมตัวก่อนตายด้วย ให้รู้จักทำบุญกุศลให้มาก เพราะสิ่งของที่หามาได้นั้น เรานำติดตัวไปในภพหน้าไม่ได้ ดังนั้นหากเรายึดติดกับสิ่งของต่างๆ มันไม่ก่อประโยชน์อะไรให้เราเลย จะมีก็แต่บุญที่ได้จากการปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เราสามารถนำไปได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน คันสิเทียว
ภาพ A25   “คันสิเทียวทางเวิ้งให่หาฮ่มมาบังหัว คันสิเทียวทางไกลไถ่ถงไห่เตรียมพร้อม”

หัวล้านชนกัน
ในอดีตการละเล่นหัวล้านชนกันเป็นที่นิยมในประเทศไทย แต่ในปัจจุบันนี้เป็นการละเล่นที่หาชมได้ยาก ผู้เล่นต้องเป็นผู้ชายหัวล้าน เอาหัวชนสู้กันเหมือนพวกวัวควาย ระหว่างการต่อสู้ทั้งสองฝ่ายต้องใช้หัวดันกันให้อีกฝ่ายออกไปจากวงล้อมให้ได้ ในภาคอีสานจะใช้การต่อสู้นี้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยเอาผู้ชายสองคนที่มีปัญหาบาดหมางกันมาต่อสู้ตัวต่อตัว ทุกคนในหมู่บ้านต่างสนุกสนานกับการต่อสู้ และในท้ายที่สุดทั้งคู่ก็จะกลายมาเป็นมิตรต่อกัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หัวล้านชนกัน
ภาพ A26   “หัวล้านชนกัน”

ทางเดินด้านใน / Inner Walkway

สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ
ตามธรรมชาติของสายน้ำจะไหลไปไม่เคยย้อนกลับ เปรียบดั่งเวลาที่เลยผ่านไป ไม่อาจย้อนกลับมาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงร่างกายของเราเองก็ถูกกำหนดโดยกฎของธรรมชาติเช่นกัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ไหล ฮ่อม น้ำ
ภาพ B1   “ตามใจน้ำ ไหลไปตามฮ่อม บ่อหอนไหลเพิ่นขึ้น เมือฟ้ายอดดอย”

ตื่นเช้าเหมือนกา หากินเหมือนไก่
อยากมีกินมีใช้ไม่ขาดให้ขยัน ตื่นแต่เช้าเหมือนกา หากินทั้งวันไม่หยุดเหมือนไก่ เปรียบดั่ง คนขยันไม่มีวันอดตาย

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำกลอน ตื่นเดิกคือกา
ภาพ B2   “ตื่นเดิกคือกา หากินคือไก่”

นกอยู่ในกรงเหงาใจไม่มีความสุข ถึงจะได้เกาะคอนทองคำ ก็ไม่มีวันลืมคอนไม้
คำพูดนี้สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้เช่นกัน ถ้าหากคนเราต้องไปอยู่ห่างไกลจากบ้าน ก็ย่อมคิดถึงอยู่เป็นนิจ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน นกอยู่ตุ้ม
ภาพ B3   “นกอยู่ตุ้ม เหงางวงบ่มีสุข แมนสิงอยคอนคำ กะบ่ลืมคอนไม่..”

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาสร้อยกินปลาซิว
ผู้ที่อ่อนแอย่อมตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ปลาใหญ่กินปลา
ภาพ B4   “ปลาใหญ่กินปลาน้อย ปลาสร้อยกินปลาซิว”

อันว่าดงหลวงกว้างใหญ่ มีฝูงเนื้อมากมาย เหล่านกน้อยต่างก็พากันเกาะตามกิ่งไม้ง่ามไม้
ดงหลวงหมายถึง ป่ากว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่ามากมาย เราควรจะรักษาป่าและความอุดมสมบูรณ์นี้ไว้ให้ยาวนาน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ดงหลวง
ภาพ B5   “อันว่าดงหลวงกว้าง ฝูงคณาเนื้อแก่น นกกะซมซืนซ้อย ลำไม่หง่างาม”

ถึงเวลาที่เหมาะสม ก็ได้คาบกินเหมือนนกกระยาง ครั้นยังไม่ถึงเวลา ก็เศร้านั่งเฝ้ารอเหมือนนกกระเต็น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะมาเมื่อถึงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม เมื่อไหร่ที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาคุณจะสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลา ต่อให้ดิ้นรนแค่ไหนก็อาจจะไม่สำเร็จ นกกระยางโชคดีที่ตัวใหญ่จับปลากินได้อย่างสบาย แต่นกกระเต็นตัวน้อยทำได้แค่มองดู เพราะจับปลาไม่ได้สักที ชาวอีสานใช้วลีนี้ปลอบใจคนที่ไม่ได้รับสิ่งที่ตนปรารถนาเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้น และปล่อยวางความทุกข์นั้นผ่านไปเพียงเพราะว่ามันยังไม่ถึงเวลาของมันเท่านั้นเอง

ผญา นกเจ่า นกเต็น นกยาง นกกระเต็น วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น
ภาพ B6   “คาดสิได้คาบกินคือนกเจ่า คาดสิเศร้านั่งเฝ่าคือนกเต็น”

มีป่าแต่ไม่มีต้นไม้จะเอาอะไรเป็นป่า นกพึ่งพาต้นไม้ เสือก็ได้พึ่งพาป่า
ธรรมชาติต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ความอุดมสมบูรณ์ก็ขาดไปด้วย

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ดง ป่า เสือ
ภาพ B7   “มีดงบ่มีไม่ สิเอาหยังเป็นป่า สกุณากะเพิ่งไม่ เสือกะได้เพิ่งดง”

อย่าเป็นศรัทธาหัวเต่า
หัวเต่าในสุภาษิตบทนี้หมายถึง ลักษณะของหัวเต่าที่ผุดเข้าผุดออกจากกระดอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงคนที่ไม่มอบความศรัทธาให้กับสิ่งที่พวกเขาเชื่อและนับถืออย่างเต็มร้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรหรือเป็นใครก็ตาม ถ้าเรามีความศรัทธาให้แล้ว ก็จงติดตามและค้ำจุนอย่างเต็มที่ อย่าปฏิบัติแบบครึ่งๆกลางๆ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ศรัทธา เต่า
ภาพ B8   “อย่าเป็นศรัทธาหัวเต่า”

ภาพนี้คือเหล่ามนุษย์ที่เมื่อตายไปต้องตกอยู่ในนรก มารับโทษทัณฑ์ที่ได้ทำผิดศีลธรรมเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์บนโลก ตัวอย่างเช่น คนที่เคยคบชู้ต้องปีนต้นงิ้ว และคนที่เคยตบตีพ่อแม่จะมีมือใหญ่เหมือนเปรต

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เปรต บุญ บาป
ภาพ B9   เปรตในนรก

เมื่อพระพุทธเจ้าสั่งสอนพระธรรม เหล่าเทวดาบนสวรรค์ต่างเข้าเฝ้ารับฟังพระธรรม ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเปรตในนรก(B9-ภาพใต้ฐานบันได) มีโอกาสได้ฟังพระธรรมและรับส่วนบุญไปด้วย

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา คำสอน อีสาน ธรรม
ภาพ B10   เทวดาฟังธรรมพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงซึ่งมีพระอินทร์เป็นผู้ปกครอง พระองค์ประทับอยู่เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อแสดงธรรมให้พระมารดา ในวันสุดท้ายพระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีบันไดสวรรค์ขนาดใหญ่ทอดยาวลงมาพร้อมกับเหล่าทวยเทพ เหล่ามนุษย์ทั้งหลายต่างก็มารอต้อนรับและสรรเสริญพระบารมี

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน พระพุทธเจ้า ดาวดึงส์
ภาพ B11   พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

องคุลีมารได้เข้าศึกษาจากพราหมณ์ผู้ซึ่งอิจฉาลูกศิษย์ของตน พราหมณ์สั่งให้องคุลีมารไปตัดนิ้วมือมา 1000 นิ้ว เพื่อแลกกับวิชาความรู้ พราหมณ์ผู้นั้นหวังว่าองคุลีมารจะตายในระหว่างการออกล่านิ้วมือ องคุลีมารออกไปอาศัยอยู่ในป่า เขาได้ดักซุ่มโจมตีและฆ่านักเดินทางหลายคนที่เดินทางคนเดียว แล้วตัดเอานิ้วมือของพวกเขาเหล่านั้นมาห้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอ พระพุทธองค์เมื่อทราบก็รับเป็นพระภาระด้วยทรงมองเห็นการณ์ต่อไปว่า องคุลีมารจะได้พบกับมารดาที่กำลังตามหาเขาเพื่อให้หยุดฆ่าคน ซึ่งมารดาขององคุลีมารจะกลายเป็นคนสุดท้ายที่ต้องถูกฆ่า เพราะบัดนี้องคุลีมารสะสมนิ้วถึง 999 นิ้วแล้ว แต่เมื่อองคุลีมารได้พบพระพุทธเจ้าก่อน จึงพยายามที่จะสังหาร แต่ไม่ว่าเขาจะวิ่งเร็วขนาดไหนก็ไม่สามารถตามพระองค์ที่เดินได้ทัน ดังนั้นเขาจึงหยุดและเริ่มฟังธรรมจากพระองค์และบังเกิดความอับอายต่อสิ่งเลวร้ายที่ตนได้ทำ เขาวางอาวุธและพวงมาลัยนิ้วมือลงกับพื้นแล้วขอบวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตอบรับคำขอ องคุลีมารใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความเที่ยงธรรมและถือสันโดษ จนในที่สุดก็สามารถตรัสรู้ได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน องคุลีมาร
ภาพ B12   พระพุทธเจ้าปราบองคุลีมาร

หลวงปู่โพธิ์ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยความศรัทธา

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน หลวงปู่โพธิ์
ภาพ B13   หลวงปู่โพธิ์

พระสงฆ์วัดป่าภูกระแตออกบิณฑบาต วัดป่าภูกระแต วัดสาขาของวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ตักบาตร
ภาพ B14   ตักบาตรวัดภูกระแต

บ้านใกล้ท่าน้ำแต่ไม่มีน้ำกิน เป็นช่างปั้นหม้อดินแต่ไม่มีหม้อใช้ เลี้ยงไก่ไว้แต่ไม่ได้ยินเสียงขัน ถ้าอยากไปสวรรค์ให้แก้ผ้าในวัด
มีของดีใกล้ตัว แต่กลับมองไม่เห็น ไม่สนใจ ทั้งที่ถ้าใส่ใจก็จะมีประโยชน์ต่อตนเองอย่างสูง เปรียบดั่งเช่น พระธรรม ถ้าอยากขึ้นสรรค์ก็ต้องรู้จักขวนขวายศึกษาจากคัมภีร์ใบลานที่อยู่ในวัด(แก้ผ้าคือแก้ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน)

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน ปั้นดิน สวรรค์ บุญ
ภาพ B15   “บ้านใกล้ท่าบ่มีน้ำกิน ซางปั่นดินบ่มีหม่อไซ่ เลี้ยงไก่บ่ได้ยินเสียงขัน คันอยากไปสวรรค์ให้แก้ผ่าในวัด…”

ไหว้พระพุทธรูปอย่าคิดว่าทองคำ ไหว้พระธรรมอย่าคิดว่าใบลาน ไหว้พระสงฆ์อย่าคิดว่าลูกหลาน
ไหว้ที่แก่นของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไหว้พระพุทธให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าไม่ใช่สักแต่ว่าไหว้ทองคำในองค์พระ ไหว้พระธรรมให้ระลึกถึงหลักธรรมไม่ใช่สักแต่ว่าไหว้ใบลาน ไหว้พระสงฆ์ให้ระลึกถึงการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าคิดไปว่าเป็นลูกเป็นหลานตน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน พระพุทธ
ภาพ B16   “ไหว้พระพุทธอย่าให้ถืกทองคำ ไหว้พระธรรมอย่าให้ถืกใบลาน ไหว้พระสงฆ์อย่าให้ถืกลูกหลาน”

บุญนี้ไม่มีใครแบ่งแจกได้ ไม่สามารถแหกออกได้เหมือนไม้ผ่ากลาง เหมือนกับการกินข้าว คนไหนกินคนนั้นอิ่ม ไม่สามารถไปอิ่มยังคนที่ไม่ได้กิน 
ถ้าอยากได้บุญ ก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะไม่สามารถแบ่งบุญจากการกระทำดีของผู้อื่นได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน บุญ
ภาพ B17   “บุญบุญนี้ บ่มีไผปันแจก บ่หอนแหกไปได้คือไม่ผ่ากลาง คือจั่งเฮากินเข่า ผู้ได๋กินผู้นั่นอิ่ม บ่หอนไปอิ่มท้อง คนอื่นนั่นผู่บ่กิน”

ตัวใหญ่ให้ใส่ก้นเชือกห้อย ตัวเล็กให้ใส่ก้นไม้หนีบ
เวลาจะหิ้วปลาในเชือกให้เอาตัวใหญ่ใส่ลงไปก่อน แล้วค่อยเรียงตัวเล็กขึ้นมา แต่พอจะเอาปลาใส่หีบย่าง หรือ หนีบด้วยไม้ผ่าซีกเพื่อเอาไปปิ้ง ให้เอาตัวเล็กใส่ที่ปลายสุดด้านล่างของไม้หนีบ แล้วค่อยใส่ตัวใหญ่ตามหลัง จึงจะหนีบได้ คตินี้สอนให้เราควรปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา คำกลอน อีสาน
ภาพ B18   “โตใหญ่ให่ใส่ก้นฮ้อย โตน้อยให่ใส่ก้นหีบ”

ความรักลูกเปรียบดั่งมีเชือกมาผูกคอ ความรักเมียเปรียบดั่งมีเชือกมาผูกศอก ความรักสมบัติพัสถานเปรียบดั่งมีปอมาผูกขา
ความยึดติด คือ ความทุกข์ เป็นหลักที่สำคัญในพระพุทธศาสนา

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น เชือก
ภาพ B19   “ความฮักลูกคือเชือกผูกคอ ความฮักเมียคือปอผูกศอก ความฮักมูลมังคือปอผูกขา”

ศาลตาปู่
คนอีสานนับถือผีบรรพบุรุษและผีที่อยู่ในบริเวณต่างๆ รวมไปถึงในบริเวณป่าลึก มักสร้างหออยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน หอปู่ตา
ภาพ B20   ตูบตาปู่ หรือ หอปู่ตา

นึ่งข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว
การแก้แค้นหรือประชดประชันไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง แถมบางครั้งเขายังได้ประโยชน์อีกด้วย เปรียบดั่งว่า นึ่งข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ในท้ายสุด หมากับแมวยังได้กินก้างปลาและเศษอาหาร ตัวอย่างคตินี้เช่น ลูกค้าร้านเสื้อไม่พอใจที่ไม่ได้รับบริการที่ดีจากพนักงาน เพราะคิดว่าตัวเองแต่งกายดูซอมซ่อ จึงกว้านซื้อเสื้อยกโหลเพื่อเป็นการประชด นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังเป็นการให้ประโยชน์กับคนขายมากกว่าแถมตัวเขาเองยังต้องเสียเงินอีกด้วย

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน นึ่ง ปิ้งปลา
ภาพ B21   “นึ่งเข่าเฮ็ดใส่หมา ปิ้งปลาเฮ็ดใส่แมว”

สี่คนหามสามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่อยู่ตรงกลาง สองคนเดินส่องไฟตามหลัง
สี่คนหามหมายถึงธาตุทั้ง 4 ในร่างกายเรา เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ สามคนแห่ หมายถึง อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีตัวตน หนึ่งคนนั่งแคร่ หมายถึง จิตที่คอยสั่งการและควบคุมธาตุทั้งหมด สองคนส่องทางตามหลัง หมายถึง ผลกรรมของเรา ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่เคยทำมา ดังนั้น เมื่อต้องการมีกรรมดี เราก็ต้องหมั่นเพียรรักษาจิต และควบคุมจิตให้มั่นคงไม่ให้หลงทางไปทำกรรมชั่ว นั่นคือ ต้องฝึกฝนจิตให้มีสติอยู่เสมอ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน สี่คนหาม
ภาพ B22   “สี่คนหามสามคนแห่ ผู้หนึ่งนั่งแคร่อยู่กลาง สองคนตามส่องทางนำก้น”

อยากเร็วให้คลาน อยากนานให้วิ่ง
การที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราต้องทำอย่างระมัดระวัง ไปทีละขั้นตอน มีสติในการทำงานด้วยความหมั่นเพียร ไม่ข้ามกระบวนการ และไม่ยอมแพ้

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน คลาน นาน แล่น
ภาพ B23   “อยากไวให้คลาน อยากนานให้แล่น”

เห็นถุงเขาอย่าเอามือล้วงลงไปหยิบ เห็นครกเขาอย่าไปเหยียบเล่น เห็นหน้าไม้เขาก็อย่าเอาไปยิง
สอนเรื่องมารยาทสังคม การไม่หยิบฉวยหรือใช้ของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เห็นถงเพิ่นอย่าจก
ภาพ B24   “เห็นถงเพิ่นอย่าจก เห็นครกเพิ่นอย่าลั่น เห็นหน่าไม่เพิ่นอย่ายิง”

พระพุทธเจ้านั่งสมาธิ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน พระพุทธเจ้า
ภาพ B25   พระพุทธเจ้านั่งสมาธิ

ใจอยากจะทำ กลางป่าก็ว่าเป็นไร่นา ใจขี้เกียจ กลางบ้านก็ว่าเป็นกลางป่า
ความคิดเป็นตัวกำหนดผลในภายหน้า เมื่อเจอความยากลำบาก เช่น อยากปลูกพืชผักในป่า ถ้าหากตั้งใจทำงานอย่างหนัก ท้ายที่สุดผักก็จะเจริญงอกงาม แต่หากอยู่ในหมู่บ้านที่มีความสะดวกสบายแล้ว กลับรู้สึกทำอะไรยากไปหมดเพราะเกียจคร้าน ทำงานอะไรก็ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น กลางดง กลางบ้าน
ภาพ B26   “ใจประสงค์สร้าง กลางดงกะว่าทง ใจขี่คร้าน… กลางบ้าน… กะว่าดง…”

กวางกินมะขามป้อม แต่ไปติดคอละมั่ง ละมั่งขี้ไม่ออกสามวันกระต่ายตาย กระต่ายตายแล้วมองไปเห็นอีเห็นก็เน่าตายเหมือนกัน
หากตัวเองทำชั่ว คนรอบข้างหรือครอบครัวก็พลอยเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือ ได้รับผลกระทบจากสังคมไปด้วย แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ร่วมทำผิดก็ตาม ดังนั้นก่อนตนเองจะทำอะไรให้นึกถึงผลของการกระทำเสมอ เพื่อไม่นำพาปัญหาไปสู่คนใกล้ชิด

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน คำผญาอีสาน คำสอน กวาง
ภาพ B27   “กวางกินหมากขามป้อม ซางไปคาคอมั่ง มั่งขี่บ่ออกสามมื้อ กระต่ายตาย กระต่ายตายแล้ว เห็นอ้มผัดเน่านำ”

สัตว์ชนิดนี้คือ หงสา หรือ หงส์ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าหิมพานต์ ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธเชื่อว่าป่าหิมพานต์อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นที่อยู่ของเทวดา

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน หงส์ หงสา
ภาพ B28   หงสา หรือ หงส์

ภาพนี้คือ ต้นนารีผล(ผลไม้ที่มีลักษณะเป็นผู้หญิง) เป็นผลไม้ที่เกิดในป่าหิมพานต์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในตำนานความเชื่อของศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู นารีผลปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่ม รวมไปถึงนิทานพื้นบ้านของไทยอีกหลายเรื่อง ผลไม้วิเศษและยั่วยวนใจเหล่านี้มีรูปร่างเหมือนหญิงสาว และเมื่อผลไม้สุก เหล่าเทวดาจากชั้นเบื้องต้นและเหล่าฤษีที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ก็จะมาเก็บไป นารีผลที่ผุดออกมาจากดอกไม้จะมีรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ แต่ว่าไม่มีกระดูก และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 7 วัน

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน มักรีผล นารีผล หิมพานต์
ภาพ B29   มักรีผล หรือ นารีผล

ถ้าไปข้างหน้า ให้เหลียวหลังดูก่อน ถ้าดูแล้วมีอุปสรรค ก็อย่าเพิ่งไป
สอนให้รู้จักหยุดคิดพิจารณาก่อนกระทำ อดีตเป็นปัจจัยแห่งเหตุของปัญหา(ที่อาจเกิดในอนาคต) ถ้าเราพิจารณาแล้วว่า ข้างหน้าหรือสิ่งที่จะเกิด เราอาจจะต้องเจอปัญหา ก็ให้หยุดไว้ก่อนหรือหาหนทางที่ดีกว่า

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน เหลียว
ภาพ B30   “คันสิไปข้างหน้า ให้เหลียวหลังเบิ่งก่อน เป็นมะลูดทูดเท่า เซาถ่อนอย่าสุไป”

เป็ดเป็นผู้ออกไข่ ไก่เป็นผู้ฟัก ไส้เดือนเป็นผู้เลี้ยง บุญนี้จะเกิดแก่ผู้ใด
เป็นภาพปริศนาธรรม อุปมาเหมือนคนทำบุญที่วัด คนหนึ่งหุงหาอาหาร อีกคนไปทำบุญที่วัด ผลเฉลยว่า หากทุกคนที่เป็นผู้มีส่วนช่วย บุญกุศลก็ย่อมตกแก่ทุกคนที่ทำกิจนั้นด้วยความยินดีและเต็มใจ

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เป็ด ไก่ บุญ
ภาพ B31   “เป็ดเป็นผู้ไข่ ไก่เป็นผู้ฟัก ขี่ไก่เดือนเป็นผู้เลี้ยง บุญสิได้แก่ผู้ได๋”

เชื้อชาติช้างพลายเผือก เกิดอยู่ในป่าดงพงไพร
ช้างเผือกโดยธรรมชาติหาได้ยาก นับเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลอยู่ในป่าใหญ่ เช่นเดียวกันกับการแสวงหาความสงบของพระภิกษุผู้ออกธุดงค์ในป่าเพื่อบรรลุธรรม อีกทั้งคตินี้ยังเป็นเครื่องเตือนใจมนุษย์ให้รู้จักรักษาป่าให้เป็นมงคลชีวิตร่วมด้วย

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ช้างเผือก
ภาพ B32   “แนวนามซ่างพลายสารเผือกผ่อง เกิดอยู่ห้องดงกว้างด่านไพร”

ถึงแม้จะเกิดเป็นอีแร้งกลิ่นตัวเน่าเหม็นแต่ไม่เคยทำบาป จึงไม่มีกรรมร้ายติดตัว เปรียบดั่งคนขี้เหร่ทำแต่ความดีไม่มีชั่ว คนหน้าตาดีมัวคิดแต่ชั่วร้ายให้อายแร้งมันบ้างนะ
การกระทำต่างหากที่เป็นตัวตัดสินว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี หาใช่รูปลักษณ์ภายนอกไม่

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน แร้ง
ภาพ 33   “ถึงแม่นเป็นอีแฮ้งกลิ่นแฮงโตเหม็นสาบ บาปบ่เคยได้สร้างกรรมฮ้ายนั้นบ่มี เปรียบดังคนผู้ฮ้ายทำดีบ่มีซั่ว คนโก้มัวคิดซัวฮ้าย อยากอายแฮ้งบ้างแนเด้อ”

ผลไม้ที่สุกกับต้น ไม่เหมือนตัดออกมาบ่มเอง คนอื่นบ่มให้ ไม่เหมือนเราบ่มเอง
ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยความเพียรของตนเอง ดีกว่าที่จะไปอาศัยคนอื่น

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน สุกคาต้น
ภาพ B34   “สุกคาต้น.. บ่คือปาดหัวบ่ม เพินบ่มให่บ่คือเจ้าบ่มเอง.. สั่นดอก”

ป่าหลวงไม่ขาดผึ้ง ป่ามูลไม่ขาดผลเร่ว ป่าแสนไม่ขาดเก้ง หมี เม่น ช้าง ค่าง ชะนี
ตั้งแต่อดีตคนอีสานช่วยกันดูแลรักษาป่าและใช้ป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารและยา และคนในชุมชนก็รู้ว่าจะหาสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตในป่าอย่างไร และยิ่งถ้าหากมีป่าใหญ่ครบ ทั้งป่าหลวง ป่ามูล และป่าแสน(ดงหลวง ดงมูล และดงแสน) ก็นับว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เพราะคือความอุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ไปจนถึงลูกหลาน ดังนั้นลูกหลานก็ควรตระหนักถึงการรักษาป่าร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะตอนนี้ป่าทั้งหลายถูกตัดลงเหลือน้อยเต็มที ของป่าก็หายากแล้ว

ผญาอีสาน คำสอน วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ชะนี ดงหลวง
ภาพ B35   “ดงหลวงบ่ขาดเผิ่ง ดงมูลบ่ขาดหมากแหน่ง ดงแสนบ่ขาดอีเก้ง หมีเม่นซ้างค่างชะนี”

อาหารที่ไม่น่ากินก็อย่ายื่นมือลงไปจับ อาหารที่ไม่น่ากัดก็อย่าไปกิน เพราะมันจะทำให้ปวดท้อง อาหารที่รสชาติไม่ควรจะเปรี้ยวแต่กลับเปรี้ยว อย่าได้กินเพราะจะทำให้เจ็บป่วย ท้องไส้ลำบาก ต้องเข้าห้องน้ำทั้งคืน
การกินก็เหมือนกันกับสิ่งอื่นๆที่เราทำในชีวิตประจำวัน ให้พิจารณาก่อนทำเหมือนพิจารณาก่อนกิน อย่าเป็นคนที่ไม่ระมัดระวัง อาหารที่ดูไม่เหมือนเดิมแล้วหรือมีรสชาติต่างไปจากเดิมอาจจะเป็นอาหารที่เน่าเสียแล้วก็เป็นได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ผญาอีสาน คำสอน
ภาพ B36   “ของบ่เป็นตาจ้ำ อย่าได้ยื่นมือลง ของบ่เป็นตากัด อย่ากินสิพวนท้อง ของบ่อเป็นตาส้ม อย่ากินลงสิขมปาก มันสิยากแก่ท้อง เทียวขี่ยังคืน… เด้อ”

จะบ้วนน้ำลายให้มองหารูเสียก่อน จะกระโดดข้ามร่องให้มองหาหนาม จะถามอะไรจากใครให้มองดูหน้าเขาก่อนว่าเขาคือใคร มีดพร้าที่คมมากจงอย่าฟันแรง สิ่งของที่เจ้าของเขาหวงแหนจงอย่าเข้าใกล้ มีโชคใหญ่อย่าได้มัวเมา
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างเตือนใจเราว่าเราควรที่จะคิดก่อนลงมือทำ ถ้าเราลงมือทำด้วยความประมาท อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญา อีสาน คำสอน เหลียวเบิ่งหน้า
ภาพ B37   “สิถ่มน้ำลายให้เหลียวเบิ่งป่อง เต้นข่วมฮองให่เบิ่งหนาม สิถามให่เหลียวเบิ่งหน่า พร่าเข่าอย่าฟันแฮง ของเพินแพงอย่าเข่าใกล้ ได้โชคใหญ่อย่ามัวเมา”

อย่าได้อิจฉากับงาช้างเขา ให้สืบต่อเขาโค้งจากบรรพบุรุษควายของเรา
อย่าไปอิจฉาในสิ่งที่คนอื่นเขามี ให้ภูมิใจในสิ่งดีที่เรามีอยู่

วัดโพธิ์บ้านโนนทัน ขอนแก่น ผญาอีสาน คำสอน ควาย
ภาพ B38   “อย่าได้โสดาดิ้น นำงาซ่างเพิ่น ให้คิดต่อเขาโล้งโค้ง ควายเฒ่าแห่งเฮา”

 

 

*************************

คณะผู้จัดทำหวังว่า ผญาอีสานอันทรงคุณค่าที่ปรากฏในอาคารโพธิสารคุณ จะเป็น “ปัญญา” ที่มีคุณประโยชน์อนันต์ต่อผู้อ่านทุกๆ ท่านสืบไป เอกสารนี้ทางคณะผู้จัดทำขอมอบเป็นสาธารณะประโยชน์ ทางคณะผู้จัดทำได้ทำเป็นหนังสือทำมือไว้ที่เค้าท์เตอร์ประชาสัมพันธ์ของวัดสำหรับยืมศึกษาจากภาพโดยรอบ และมี QR code หากท่านสะดวกเปิดจากมือถือ และหากต้องการอ่านเป็นภาษาอังกฤษ English version ที่ Tim’s Thailand blog หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมประการใด โปรดส่งมาที่อีเมล์ info@isanexplorer.com เพื่อคณะผู้จัดทำจะได้ทำการปรับปรุงในกาลต่อไป และหากท่านใดต้องการพิมพ์เผยแพร่ก็สามารถส่งความประสงค์มาได้ตามที่อยู่เวปไซต์ดังกล่าว

คณะผู้จัดทำ
ผู้เขียน นางสุทธวรรณ บีเวอ นายทิม บีเวอ และ นางสาวประภาพร สมภักดี
พิสูจน์อักษร นางสาวนฤวรรณ ตั้งวานิชย์เจริญ

 

3 thoughts on “ศิลปะโดยรอบศาลาโพธิสาร 72 วัดโพธิ์บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น

  1. They are very good and interesting. All of them could be very useful to apply to everyone’s life.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *